วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่ : ทางรอดหรือทางเลือก

การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่ : ทางรอดหรือทางเลือก
สุวิทย์ ยอดสละ
นิสิตปริญญาเอก สาขา การบริหารและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

บทนำ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาในมาตรา 6 ที่กำหนดไวว่า “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติ ปัญญา ความรู และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” และมาตรา 8 ไดกำหนดหลักการจัดการศึกษาให้ยึดหลักการ 3 ประการ คือ เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และการพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546) และกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) ภายใต้มีวิสัยทัศน์ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” โดยประเด็นหลักของเป้าหมายปฏิรูปการศึกษามี 3 ประเด็น คือ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและจัดการศึกษา ทั้งนี้ได้กำหนดกรอบแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบไว้ 4 ประการ คือ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาครูยุคใหม่ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการพัฒนาการบริหารจัดการใหม่(กระทรวงศึกษาธิการ,2553)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโรงเรียนในสังกัด 32,879 แห่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียน ตั้งแต่ 120 คน ลงมา มีจำนวนมากถึง 13,882 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 43.73 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี อันเป็นผลมาจากอัตราการเกิดลดลง และความนิยมของผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานไปโรงเรียนในเมือง การมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ย่อมส่งผลถึงคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพึงพอใจ
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ได้ทำการประเมินคุณภาพโรงเรียนในรอบแรกระหว่างปี พ.ศ. 2544-2548 โรงเรียนที่ได้รับการประเมินภายนอกมีจำนวน 30,010 โรง ผลจากการประเมินพบว่า โรงเรียนที่ได้มาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษามีมาตรฐานอยู่ในระดับดี มีจำนวน 10,856 โรง คิดเป็นร้อยละ 36.2 ที่เหลือเป็นโรงเรียนที่ได้มาตรฐานในระดับพอใช้และปรับปรุงจำนวน 19,145 โรง คิดเป็นร้อยละ 63.8 โดยในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับปรับปรุง หรือ ICU จำนวน 596 โรง คิดเป็นร้อยละ 3.1 ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยโรงเรียนเกือบทั้งหมดมีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในเขตท้องถิ่นห่างไกล
อาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีคุณภาพและมาตรฐานต่ำกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากพื้นฐานอยู่บนความขาดแคลน ทั้งงบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ ขาดแคลนครูทั้งปริมาณและคุณภาพ ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากชุมชน บางแห่งตั้งอยู่เขตชนบท จึงมีความเสียเปรียบด้านปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อความไม่เสมอภาคในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก
แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหลายรูปแบบ ได้แก่ 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบรวมชั้นเรียน 2) รูปแบบการบูรณาการหลักสูตร 3) รูปแบบความร่วมมือจากชุมชน 4) รูปแบบการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการพัฒนาคุณภาพ 5) รูปแบบโรงเรียนเครือข่าย 6) รูปแบบการผสมผสานด้วยวิธีการหลากหลาย 7) รูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กโดยรวมนั้น โครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษาขนาดเล็ก ได้มีการจัดวางรูปแบบการดำเนินงานใน 7 รูปแบบ คือ 1) โรงเรียนเรียนรวมกับโรงเรียนเรียนหลัก 2) โรงเรียนเรียนรวมตามระดับช่วงชั้น 3) โรงเรียนสอนตามปกติ 4) โรงเรียนศูนย์บริการสื่อ 5) การให้การบริการรถหน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ 6) การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และ 7) ครูช่วยสอนหมุนเวียน (ประเสริฐ จั่นแก้ว, 2551)
สถานศึกษาหลายแห่งมีรูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นตนเอง เช่น โรงเรียนขนาดเล็กในอำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 2 รูปแบบ คือ 1) รูปแบบการหมุนเวียนครู เป็นการหมุนเวียนครูสอนในสาขาขาดแคลนโดยจัดโครงสร้างการบริหารให้ชัดเจนประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก คณะกรรมการประสานงาน คือ ครูวิชาการในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งกรรมการทั้งสอง คณะจะต้องจัดระบบการบริหารงานให้ชัดเจนในการหมุนเวียนครู 2. รูปแบบเครือข่ายประถมศึกษาจุฬาภรณ์ เป็นการสร้างรูปแบบเครือข่ายโดยเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้บริหารกลุ่มสาระ 8 กลุ่มสาระ ผู้อำนวยการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรการสารสนเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายประถมวัย จำนวน 11 ตำแหน่งและแบ่งศูนย์การเรียนรู้ออกเป็น 3 ศูนย์ โดยคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์การเดินทางของนักเรียน จัดรถรับส่งนักเรียนหรือค่าพาหนะให้นักเรียน ระดมครูจำแนกตามกลุ่มสาระเป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าบางแห่งมีการจัดการศึกษาแบบศูนย์เรียนรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีการตั้งโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์เรียนรวม ปรับงานทั้ง 4 งานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท คือ 1) งานวิชาการ ดำเนินการหลอมรวมหลักสูตรสถานศึกษาใช้ร่วมกัน จัดเวลาเรียนสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 6 ชั่วโมง จัดครูเข้าสอนตามความถนัดและความสนใจ จัดชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ครูใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน 2) งานงบประมาณ ในส่วนที่ได้รับเงินสนับสนุนในนามของศูนย์เรียนรวมโรงเรียน จะมอบหมายให้โรงเรียนที่รับผิดชอบดูแลและเป็นผู้ดำเนินการ 3) งานบุคคล แบ่งงานมอบหมายให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบ ส่วนการกำหนดอัตราตำแหน่ง การย้าย การพิจารณาความดีความชอบเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเดิม 4) งานบริหารทั่วไป ดูแลด้านระเบียบวินัย อาหารกลางวัน ทุนการศึกษา บริการรถรับส่งนักเรียน ประกันชีวิตนักเรียน ดูแลอาคารสถานที่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์เรียนรวมกับชุมชน
ดังนั้นในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ตามรูปแบบที่กำหนด ได้ส่งผลให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนส่วนใหญ่มีความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กสู่โรงเรียนคุณภาพโดยเฉพาะการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของความขาดแคลนในโรงเรียนขนาดเล็ก สามารถพัฒนาองค์ความรู้ของครู ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพ รวมทั้งสามารถดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ

ทางรอดหรือยถากรรมโรงเรียนขนาดเล็ก
โรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหามากมาย หลายฝ่ายบอกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือบางคนก็บอกว่าไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต เป็นสัญญาณที่ส่งให้โรงเรียนขนาดเล็กรู้สึกตัวเพื่อปรับตัวให้อยู่รอด จะเห็นได้จากข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก ดังเช่น
“เผยปฏิรูปการศึกษารอบ 2 สพฐ.มีแผนยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่บีบบังคับลง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 7,000 โรงจาก 1.4 หมื่นโรงภายใน 10 ปี "ชินวรณ์” เร่ง สพฐ. อบต.ทำเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบลให้เกิดคุณภาพ พร้อมทุ่มงบประมาณสร้างโรงเรียนดีประจำทุกท้องถิ่น”
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ภายใต้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 จะดำเนินการตั้งแต่ปี 2553-2561 นั้น สพฐ.ตั้งเป้าว่าเมื่อสิ้นสุดการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 แล้ว จะส่งผลให้เกิดการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้โดยไม่ต้องบีบบังคับใดๆ ได้ประมาณ 7,000 โรง หรือ 50% ของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ถึง 1.4 หมื่นโรงทั่วประเทศในขณะนี้ จะทำให้การบริการจัดการทรัพยากรและงบประมาณด้านการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องกระจายงบประมาณไปตามโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นหมื่นโรง ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งเองก็ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้คุณภาพ เพราะต้องบริหารจัดการในภาวะขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร ทั้งนี้ การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น สพฐ.จะไม่ใช่วิธีบีบบังคับแต่จะปล่อยไปตามธรรมชาติ
“ธงทอง” ยันไม่มีทางยุบโรงเรียนขนาดเล็กภายในปี 2561 ชี้เป็นการบริหารจัดการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า หลังจากที่มีข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบการเงินการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กลงประมาณ 7,000 แห่ง จากจำนวน 15,000 แห่ง ภายในปี 2561 นั้น ได้มีข้อห่วงใยจากคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ไม่อยากให้ใช้คำว่า “ยุบ” เนื่องจากทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่า จะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เป็นการยุบ แต่จะใช้การบริหารจัดการที่ทำให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลายมิติ อาทิ การใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน การจัดรถรับส่งให้นักเรียนไปเรียนในโรงเรียนร่วม โดยรัฐบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ เป็นต้น
“...แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว การยุบโรงเรียนขนาดเล็กขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ซึ่งบางแห่งโดยสภาพภูมิประเทศแม้จะมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน และการคมนาคมไม่สะดวก แต่ก็จำเป็นต้องมีอยู่หากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ ในขณะที่บางแห่งอาจจะต้องปิดตัวไปเองในที่สุด เนื่องจากคนในพื้นที่ส่งลูกหลานไปเรียนในตัวเมืองหรือในตำบลอื่น เพราะการคมนาคมสะดวกมากขึ้น รวมทั้งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะพัฒนาโรงเรียนประจำตำบลให้เป็น โรงเรียนดีมีคุณภาพ ผู้ปกครองจึงส่งลูกหลานไปเข้าเรียนมากขึ้น เชื่อว่าถึงปี 2561 การปิดตัวลงเองจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก ลดลงได้ประมาณ 7,000 แห่ง” เลขาธิการสภาการศึกษากล่าว.
ผู้เขียนมองว่า ผู้บริหารระดับสูงในบ้านเมือง พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่อง โรงเรียนขนาดเล็กโดยเสนอแนวทางในการบริหารการจัดการที่เน้นความสำคัญในมิติความคุ้มค่ากับการลงทุน หากโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้นไม่มีการพัฒนาและดำเนินการให้ได้คุณภาพและเหมาะสมกับงบประมาณ ก็จะถูกยุบ การมองมิติเดียวเป็นสัญญาณอันตรายหรือทำลายโรงเรียนขนาดเล็กได้ รัฐควรมองการจัดการศึกษาให้หลายมิติ ครอบคลุม และรอบด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นทางรอดโรงเรียนขนาดเล็กขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คนหรือควรปล่อยให้ไปตามยถากรรมกันแน่

แนวโน้มของการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก
สำหรับแนวทางในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในอนาคตนอกจากจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของการศึกษาให้เป็นไปตามที่มุ่งหวังแล้วยังต้องตระหนักถึงการสร้างคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดพร้อมกันไปอีกด้วย จะเห็นได้จากการวิจัยการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในแถบยุโรปภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “Effective School Improvement Project” (ESI) หรือ “โครงการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ” โครงการดังกล่าวได้พัฒนากรอบแนวคิดมาจากการบูรณาการการศึกษาวิจัย ใน 2 ด้าน ได้แก่ (1) ความมีประสิทธิภาพของโรงเรียน (schooleffectiveness) เป็นการศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบว่า “อะไร” และ “ทำไม” ที่ทำให้การทำกิจกรรมทางการศึกษาต่างๆ ดำเนินไปได้ด้วยดีและราบรื่น และ (2) การพัฒนาโรงเรียน (school improvement) เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นด้านการปฏิบัติและการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายของการพัฒนาเพื่อ ต้องการเห็น ความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ ทั้งนี้ความเชื่อมโยงระหว่างความมีประสิทธิภาพและการพัฒนาโรงเรียน คือ การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาความมีประสิทธิภาพของโรงเรียนมาใช้ในการอธิบายและให้ข้อมูลเชิงลึกที่จะนำไปช่วยพัฒนาโรงเรียน ซึ่งความเชื่อมโยงของแนวคิดทั้งสองจะเกิดขึ้นในกระบวนการวางแผนเพื่อการพัฒนาโรงเรียนนั่นเอง (Reezigt & Creemers, 2005)
กรอบแนวคิดที่นักวิชาการได้พัฒนาขึ้นใหม่ เรียกว่า กรอบแนวคิดแบบองค์รวมสำหรับการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ (comprehensive framework for effective school improvement) การพัฒนากรอบแนวคิดดังกล่าว นอกจากจะพัฒนามาจากทฤษฎีและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความมีประสิทธิภาพของโรงเรียนและการพัฒนาโรงเรียนแล้ว ยังมีการใช้สารสนเทศจากกรณีศึกษาจากกลุ่มโรงเรียนในโครงการที่ประสบความสำเร็จมาใช้ประกอบการพัฒนากรอบแนวคิดในการวิจัย ร่วมกับการปรับแก้จากความเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักนโยบาย ได้ข้อสรุป จากกรอบแนวคิดข้างต้น มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ด้าน (1) ด้านบริบททางการศึกษา และ (2) ด้านโรงเรียน (Reezigt & Creemers, 2005)
(1) องค์ประกอบในด้านบริบท งานวิจัยได้มีการกล่าวถึงปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับบริบท 3 ลักษณะ ได้แก่ (1) ความกดดันเพื่อการพัฒนา ภายใต้แรงกดดันจากภายนอก โรงเรียนต้องสามารถสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินการพัฒนาการศึกษา ทั้งในการวางแผนออกแบบการดำเนินงาน และประเมินตนเองอย่างเหมาะสม สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากแรงกดดันที่ได้รับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่คาดหวัง (2) แหล่งทรัพยากรเพื่อการพัฒนา เพื่อให้การพัฒนาโรงเรียนประสบความสำเร็จ มีความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องได้รับทรัพยากรในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาอย่างเหมาะสมทั้งทรัพยากรในลักษณะรูปธรรมและนามธรรม เช่น งบประมาณความเป็นอิสระในการดำเนินงาน และความพึงพอใจของครูและโรงเรียนที่ได้รับจากการทำงานประจำวัน รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น (3) จุดมุ่งหมายทางการศึกษาในบางกรณี อาจเห็นได้ว่า โรงเรียนไม่มีการวางเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ด้วยสภาวะบริบททางการศึกษาในภาพรวมจะกำหนดเป้าหมายทางการศึกษา ทำให้ความพยายามในการดำเนินงานต้องมีความสอดคล้องกับบริบทไปโดยปริยาย
(2) องค์ประกอบด้านโรงเรียน จากกรอบแนวคิดการพัฒนาโรงเรียนข้างต้น บริเวณส่วนกลางจะอิงทฤษฎีและการวิจัย ซึ่งแสดงถึงการพัฒนานั้นจำเป็นต้องมีกระบวนการในระดับโรงเรียนเป็นการขับเคลื่อน ปัจจัยสำคัญในการกำหนดองค์ประกอบด้านโรงเรียนมี 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) วัฒนธรรมการพัฒนา โรงเรียนที่มีวัฒนธรรมของการพัฒนานั้นจะเป็นการส่งเสริมให้เริ่มพัฒนาและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้ง่ายกว่าในโรงเรียนที่พยายามหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงหรือกลัวที่จะต้องพัฒนา (2) กระบวนการพัฒนา สำหรับกระบวนการพัฒนาโรงเรียนนี้ เปรียบเสมือนผลที่เกิดขึ้นอย่างไมปะติดปะต่อ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นถึงจะมีดำเนินการ และเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ก็จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นสำหรับโรงเรียนที่มีพลวัตรนั้นจะมีการพิจารณาการพัฒนาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นเหมือนกิจกรรมประจำวันในชีวิต กลายเป็นวงจรที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องในธรรมชาติ (3) ผลลัพธ์ของการพัฒนา ในอุดมคติในเรื่องของความพยายามต่อการพัฒนานั้น มักจะให้ความสนใจกับจุดมุ่งหมายที่มีความชัดเจน มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จได้ทันตามเวลากำหนด แต่ถ้าจุดมุ่งหมายมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนแล้ว ความพยายามที่จะพัฒนามีแนวโน้มที่จะล้มเหลว จุดมุ่งหมายของการพัฒนาโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีการระบุถึงผลลัพธ์ของผู้เรียน หรือในเรื่องของโรงเรียนและครูซึ่งเป็นเหมือนปัจจัยที่สำคัญต่อผลลัพธ์ของผู้เรียนนักวิชาการให้ความสนใจในการใช้ประโยชน์จากกรอบแนวคิดดังกล่าวกับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักนโยบายสำหรับผู้เชี่ยวชาญกรอบแนวคิดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบการวางแผนและการนำไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียน ให้ภาพรวมของปัจจัยที่สนับสนุนหรืออุปสรรคต่อการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติทางการศึกษา อย่างไรก็ดี โรงเรียนยังคงต้องมีศึกษาวิเคราะห์ถึงปัจจัยภายในกรอบแนวคิดในสถานการณ์ที่เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของโรงเรียน นักวิชาการได้เน้นย้ำว่า กรอบแนวคิดการพัฒนาแบบองค์รวมนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่พัฒนาขึ้นมาให้สำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยชี้ให้เห็น “จุดเริ่ม” หรือ ”ประเด็นปัญหา” ที่ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงเพื่อการพัฒนาเท่านั้น สำหรับนักวิจัย กรอบแนวคิดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยทางการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต นักวิจัยสามารถนำไปใช้สร้างสมมุติฐานหรือคัดเลือก ตัวแปรที่มีความเหมาะสมในการศึกษาวิจัย เป็นมุมมองโดยรวมของปัจจัยหรือตัวแปรที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรงเรียนในการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติ อาจพิจารณาให้ความสนใจกับบริบทที่ทำการศึกษาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเปรียบเทียบข้ามประเทศ หรือภายในประเทศเดียวกัน สำหรับนักนโยบาย ต้องตระหนักถึงกรอบแนวคิดไม่ใช่สูตรสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ หรือกล่องเครื่องมือสำเร็จรูปที่สามารถนำไปใช้กับการพัฒนาโรงเรียนได้ทันที กรอบแนวคิดสามารถช่วยให้เกิดความชัดเจนกับตัวแปรที่จะนำมาพิจารณาในการวางแผนของกระบวนการพัฒนาภายในโรงเรียน นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงบริบทและระดับของโรงเรียน กรอบแนวคิดน่าจะช่วยให้นักนโยบายเห็นความสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ให้เกิดกับตัวผู้เรียน หรือความสำคัญของโรงเรียนที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนา การที่โรงเรียนจะแข็งแกร่งได้นั้น จึงเป็นผลมาจากบริบทต่างๆทางการศึกษา ดังนั้น ความตระหนักถึงบริบททางการศึกษาจึงถือได้ว่ามีความสำคัญ การที่โรงเรียนอยู่ภายใต้บริบทที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการพัฒนา การปล่อยให้โรงเรียนพัฒนาด้วยตนเองนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ในความเป็นจริง (Reezigt & Creemers, 2005)
การวิจัยการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพในกลุ่ม ประเทศยุโรปยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มนักวิชาการพยายามที่จะตอบคำถามในเชิงลึกมุ่งอธิบายว่า “อะไรคือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบริบททางการศึกษาของประเทศที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ” และในแต่ละประเทศนั้นมีปัจจัยดังกล่าวเหมือนหรือต่างกันอย่างไร การศึกษาในระยะนี้ได้พัฒนากรอบแนวคิดจากงานวิจัยใน 5 ด้าน ได้แก่ ความมีประสิทธิภาพของโรงเรียน การพัฒนาโรงเรียน หลักสูตร ทางเลือกสาธารณะ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ กรอบแนวคิดดังกล่าวมีจุดเน้นสำคัญที่เป้าประสงค์ ความกดดันและการสนับสนุน ดังแสดงในภาพที่ 2.4 นอกจากนี้ข้อค้นพบจากการศึกษาได้รายงานถึง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบริบททางการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 10 ปัจจัย อันประกอบด้วย ตัวชี้วัดจำนวน 48 ตัวชี้วัด เป็นข้อค้นพบที่รวบรวมข้อมูลจากการสังเคราะห์เอกสารและจากข้อมูลในเชิงประจักษ์ใน 31 กรณีศึกษาของ 8 ประเทศที่เข้าร่วมในโครงการ ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยยังมีเป้าหมายมุ่งสู่การให้สารสนเทศต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบาย ในทางปฏิบัติ ความมีประสิทธิภาพของโรงเรียนและการพัฒนาโรงเรียน (Sun, Creemers, & Jong, 2007)

ทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็ก
จากรายงานการวิจัยการวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนภายหลังการประเมินภายนอกรอบแรก ตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นการจัดหารูปแบบการจัดการศึกษา ควรมีการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาใหม่ที่เป็นทางเลือก โดยเฉพาะในพื้นที่มีนักเรียนน้อย แต่จำเป็นต้องมีสถานที่เรียนอาจศึกษารูปแบบศูนย์การเรียนที่สามารถให้การศึกษาแก่ผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ หรือรูปแบบอื่นที่ไม่ได้มีลักษณะแข็งตัวเหมือนการตั้งโรงเรียน เพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณรายจ่ายในการตั้งโรงเรียนหรือการจ้างบุคลากร และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู ควรวิจัยการสอนแบบคละชั้นที่ดีหรือการบริหารจัดการให้นักเรียนเรียนข้ามโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรศึกษาเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูว่าแบบใดให้ผลดีกว่ากัน หรือวิธีแก้ปัญหาแบบใดเหมาะสมกับการนำไปใช้กับโรงเรียนบริบทใด ภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา , 2553)
นอกจากนี้ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จากผลการประเมินเชิงวิพากษ์ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1 ด้านความเป็นไปได้ โดยมีข้อเสนอแนะว่า ควรคิดนอกกรอบ เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ควรทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มุ่งพัฒนาครูแนวใหม่ การบริหารโรงเรียนแนวใหม่ การปรับกระบวนการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับระบบอื่นที่อยู่นอกกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา , 2553)
สำหรับการพัฒนาศักยภาพของของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารโรงเรียน โรงเรียน ผู้ปกครอง วัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคราชการและเอกชน สามารถร่วมกันพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพทางการศึกษา โดยระดมทรัพยากรทั้งความรู้ ความคิด งบประมาณ และแรงงาน ทำให้นักเรียนเป็นคนดี และมีความสุข แต่น่าสังเกตว่า การช่วยเหลือเหล่านี้ไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้ มีประเด็นที่ควรหาทางแก้ไข คือ 1) กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพแก่ชุมชน โดยเฉพาะด้านวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโรงเรียน ด้านการพัฒนาผู้เรียนร่วมกับโรงเรียน สภาพปัจจุบันโรงเรียนมีการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนได้ดี แต่ผลที่ได้รับจากชุมชนส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความร่วมมือด้านกำลังใจ แรงงาน ไม่ใช่เรื่องของความสามารถในการวางแผนการพัฒนาการศึกษา 2) ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ให้คงอยู่ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่น รวมทั้งควรให้ระบบการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย
ในมุมมองของผู้เขียน อนาคตภาพหรือทางเลือกของโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนต้องสร้างจุดเด่นหรือจุดแข็งของตนเองที่สะท้อนรากเหง้าท้องถิ่นตนเอง เพื่อให้เรียนรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม จัดการศึกษาร่วมกับบ้าน วัด โรงเรียน(บวร) ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการศึกษา สร้างโอกาสในการศึกษากับทุกคนในชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ ครูต้องจัดการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน สามารถเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา บริหารจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีคุณภาพ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น นักเรียนและผู้ปกครอง ชุมชน ต้องเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษา ทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ตลอดชีวิต

การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่
ตามทัศนะของผู้เขียน ขอเสนอแนวคิด”รูปแบบการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่” ในจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการมาขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา ปรับปรุงจากแนวคิดของ Senior ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นที่ 1 (a) การวินิจฉัยสภาพปัจจุบัน โดยใช้เทคนิคการ SWOT โดยวิเคราะห์ PETS มาประยุกต์ใช้ เพื่อศึกษาว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กอย่างไร
ขั้นที่ 1 (b) วิเคราะห์ความคาดหวังของโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพแนวใหม่ เป็นภาพอนาคตร่วมกันทั้งบ้าน วัด โรงเรียน(บวร)
ขั้นที่ 2 สร้างความยึดมั่นต่อวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาโดยโดยใช้ชุมชนเป็นฐานของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพแนวใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์การ ประกอบด้วย นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
ขั้นที่ 3 พัฒนาแผนปฏิบัติการร่วมกันทุกภาคส่วน (บ้าน วัด โรงเรียน) โดยจะต้องตอบคำถามว่า จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ ใครคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง วิธีแทรกเสริมคืออะไร ต้องใช้อย่างไร และได้มาจากไหน ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในเรื่องใดบ้าง
ขั้นที่ 4 ดำเนินการเปลี่ยนแปลง ในขั้นนี้ต้องใช้วิธีแทรกเสริมหลายๆวิธีมาเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทุกภาคส่วน(บวร) โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนาในการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ ประเด็นนี้มุ่งนำแนวคิด 1) บริบทด้านการพัฒนาโรงเรียน 2) แนวคิดความมีประสิทธิภาพของโรงเรียน เพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กแนวทางใหม่ ที่มีหน่วยการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน ประกอบด้วย ผู้ปกครองที่ศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย(กศน.)และนักเรียนที่เรียนในระบบ(สพฐ.)
ขั้นที่ 5 การประเมินและเพิ่มระดับการเปลี่ยนแปลง เป็นการเปรียบเทียบระหว่างสภาพปัจจุบันกับภาพอนาคตว่ายังปรากฏช่องว่างอยู่หรือไม่ หากไม่ปรากฏหรือปรากฏน้อยก็ต้องเพิ่มระดับการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้นในวงรอบต่อไป

บทสรุป
การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กแนวใหม่ ผู้นำต้องกล้าคิดนอกกรอบ เปลี่ยนแนวคิดใหม่ มีวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน มีการทำงานเป็นทีม มีเครือข่ายในการทำงาน จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกับชุมชนหรือภูมิปัญญาในท้องถิ่น อาจต้องใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้เพราะมีครูไม่ครบชั้น หรืออาจจัดการการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย สามารถประสานสิบทิศร่วมกับ บ้าน วัด โรงเรียน จัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อนในการจัดการศึกษา เพื่อสร้างทางเลือกในการบริหารจัดการศึกษาแนวใหม่ กล่าวโดยสรุปคือ 1) สร้างจุดเด่น 2) เน้นเครือข่าย 3) ใช้ ICT 4) มีแหล่งเรียนรู้ 5) บูรณาการ 6) ประสานสิบทิศ 7) คิดนอกกรอบ และในฐานะผู้เขียนเป็นคนที่ใกล้ชิดกับโรงเรียนขนาดเล็ก
ขอฝากคำกลอนไว้ว่า
เป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ภารกิจเพื่อเด็กนั้นยิ่งใหญ่
หวังอยากเห็นการศึกษาก้าวหน้าไกล ต้องใส่ใจดูแลอย่างแท้จริง
แม้มีครูไม่ครบชั้นนั้นน้อยนิด ทุกหยาดเหงื่อเพื่อลูกศิษย์เหนือทุกสิ่ง
จิตวิญญาณความเป็นครูที่แท้จริง ต้องใหญ่ยิ่งต้องเห็นความเป็นมนุษย์
ดังนั้นทุกคนทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมแรงในการจัดการศึกษา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้และต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้โรงเรียนขนาดเล็กดำงอยู่ตลอดไป


เอกสารอ้างอิง

บัญชา พูนพนัง. (2552). การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ในอำเภอ
จุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช.นครศรีธรรมราช : โรงเรียนบ้านคอพรุ. ถ่ายเอกสาร
ประเสิรฐ จั่นแก้ว.(2551).การศึกษาสภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด
สำนักงานเขตพื้นที่การ ศึกษานครราชสีมาเขต 4 ปีการศึกษา 2550. สำนักเขตพื้นที่การศึกษาเขต 4
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
ศิริกุล นามศิริ. (2552) การพัฒนางานวิชาการด้วยหลักการบูรณาการในโรงเรียนขนาดเล็ก : การวิจัยเชิง
ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม.วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหาร
การศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.(2553). รายงานการวิจัย การวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาการศึกษา
ของโรงเรียนภายหลังการประเมินคุณภาพภายนอกรอบแรก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
_________.(2553).ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา . กรุงเทพฯ :
บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพภายนอก(สมศ.).(2549). รายงานการประเมินคุณภาพ
ภายนอกสถาน ระดับศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ : สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน
คุณภาพภายนอก(องค์การมหาชน)
Creemers,B.P.,& Reezigt, G.J.(2005).Linking school effectiveness and school improvement: the background and outline of the project. School Effectiveness and School Improvement, 16 (4), 359-371
http://www.korat-ed4.com/vichakran/ html/prasert/8.pdf
Reezigt, G.J.,& Creemers, B.P.(2005).A comprehensive framework for effective school improvement. School Effectiveness and School Improvement , 16 (4), 407-424.
Sun,H.,Creemers,B.P.,& Jong, R.d.(2007).Contextual factors and effective school improvement. School
Effectiveness and School Improvement , 18(1),93-122.