วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความ เรื่อง
“ผู้บริหารสถานศึกษา : ประเด็นท้าทายผู้นำการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา”
โดย นายสุวิทย์ ยอดสละ
นิสิตปริญญาเอก สาขา การบริหารและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์มหาสารคาม

การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในรอบแรก(พ.ศ.2542) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาทั้งทางด้านหลักสูตร การสอน เทคโนโลยีการศึกษา และการบริหารจัดการ ซึ่งความพึงพอใจน่าจะอยู่ในระดับพอใช้ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยกับประเทศในแถบอาเซียนไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียตนาม ประเทศไทยพัฒนาช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง นับว่ายังห่างไกลกับประเทศเหล่านี้ ปัญหาที่พบจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาที่ต้องเร่งพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด คือ คุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะด้านคุณภาพผู้เรียน ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ จากรายงานสภาวะการศึกษาไทย 25512/2552 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เช่น คะแนนจากการทดสอบในระดับช่วงชั้น ป.6 ม.3 และม.6 วิชาส่วนใหญ่ได้เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 น่าจะสะท้อนให้เห็นคุณภาพการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ.2553-2561) ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ด้วยการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนา 4 ใหม่ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาครูยุคใหม่ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นคนหรือแม้แต่สถานศึกษาก็ได้รับผลกระทบด้วย สถานศึกษาต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะเป็นแนวคิดในการบริหารสถานศึกษาให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จ คือ การบริหารการเปลี่ยนแปลง(Change management) ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับครู ผู้เรียนและชุมชนมากที่สุด ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีสมรรถนะในการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาบรรลุเป้าหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2452 ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 คือ “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”
ผู้บริหารสถานศึกษากับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สถานศึกษามีคุณภาพ
Transform คือ “การเปลี่ยนแปลง” ไปสู่อีก “บริบท” หนึ่งที่ดีขึ้น นั่นคือ การเปลี่ยนบริบทสถานศึกษาให้สอดรับกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Context Analysis : The Challenge of the future Education Administration) ซึ่งเป็นความท้าทายการบริหารการศึกษาอย่างยิ่ง ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้อง Reform สิ่งที่เป็น “จุดอ่อน” (Weakness) ให้เป็น “จุดแข็ง” (Strength) โดยบริหารจัดการสถานศึกษาให้เป็น “สถานศึกษาแห่งคุณภาพ” ที่มีผลสำคัญยิ่งต่อคุณภาพผู้บริหาร คุณภาพครู และคุณภาพนักเรียน

หลักการบริหารคุณภาพการศึกษาทั่วทั้งองค์กร
ผู้เขียนได้ศึกษาหลักการบริหารคุณภาพการศึกษาทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Education Principal : A Transformed Leader) ของ Richard Sagor & Bruce G. Barnett สรุปได้ 7 ประการ ดังนี้
“มีแผนยุทธศาสตร์ ฉลาดใช้TQM เติมเต็มศักยภาพ รับปรึกษา กล้าตัดสินใจ ใฝ่เรียนรู้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
1.มีแผนยุทธศาสตร์ หมายถึง ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการทำงานให้ประสบ
ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา (Understanding How the Work of Group Fit Into the School’s Vision) โดยอาศัยกระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์(The Strategic Planning Process) ให้ทุกคนตระหนักถึงพันธกิจ(Commitment) และสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Creating a Shared Vision)
2.ฉลาดใช้ TQM หมายถึง ผู้บริหารต้องมีการนำแนวคิดเรื่องการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร มาใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาอย่างถูกต้อง (bring the key concepts of TQM right into the modern schoolhouse) จะต้องรู้จักว่า ลูกค้าคือใคร (Who Is the Customer) จะสนับสนุน ส่งเสริมภารกิจและบุคลากรอย่างไร (How can principal Organize the Suppliers)
3.เติมเต็มศักยภาพ หมายถึง ผู้บริหารจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพความสามารถพิเศษของบุคลากรให้เต็มศักยภาพ (Optimizing the Talents of All Staff Members)โดยใช้วงจรพัฒนาของ เดมมิ่ง(Deming) ผู้บริหารจะต้องเข้าใจหลักการ 3 ประการ คือ การเรียนรู้ของผู้ใหญ่(Adult Learning) วัฒนธรรมขององค์กร(Organizational Culture) และภาวะผู้นำของครู (Cultivation of teacher Leadership)
4.รับปรึกษา หมายถึง ผู้บริหารจะต้องมีแสดงบทบาทเป็นผู้ฝึกสอนและให้คำปรึกษาไม่ใช่ ผู้ตัดสิน (Being Coaching and Counselor not Judges) จะต้องสนับสนุนครูหลากหลายวิธีในการจัดการเรียนการสอน
5.กล้าตัดสินใจ หมายถึง ผู้บริหารต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจในการบริหารจัดการคุณภาพ (Making Quality Decision Base on data) โดยอาศัยวิจัยปฏิบัติการแบบความร่วมมือ(Collaborative Action Research) เพื่อให้วิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนยุทธศาสตร์ บรรลุตามเป้าหมาย
6.ใฝ่เรียนรู้ หมายถึง ผู้บริหารต้องเป็นผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Building a Professional Learning Community) โดยต้องนำหลักการสู่การปฏิบัติในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเทคนิคและทักษะการบริหาร เช่น การบริหารแบบ MBWA (Management By Walking Around ) หมายถึง การบริหารโดยการเดินดูรอบๆ โดยเดินไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับบุคลากรในโรงเรียนให้มากขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานหลายประการ คือ จะได้เห็นและรู้จักหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เป็นการแสดงถึงความสนใจในการทำงานของบุคลากรทุกคนในหน่วยงาน เป็นการให้ความสำคัญแก่บุคลากร ช่วยในการติดตามและประเมินผลการทำงานของบุคลากรได้อย่างใกล้ชิด ช่วยในการประสานงานและอำนวยการ
7.ผู้นำการเปลี่ยนแปลง หมายถึง ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการนำรูปแบบการบริหารคุณภาพการศึกษามาบูรณาการใช้ (A TOE Model of Instructional Leadership) ดังแผนภาพ


Influences




The Transformed Principal





Influences


A TOE Instructional Leadership Model
ในฐานะผู้เขียนเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ได้มองเห็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั่วทั้งองค์กร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการพัฒนา 4 ใหม่ คือ
1.Customer (Student, Parent) คือ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ เด็กไทยและคนไทยยุคใหม่ เป็นคนเก่ง ดี มีความสุข ดำรงรักษาความเป็นไทยและรู้เท่าทันโลก
2.Collegial Work Group คือ การพัฒนาครูยุคใหม่ จะต้องจัดอบรมการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยในชั้นเรียน การนิเทศแบบมีส่วนร่วม การอบรมสัมมนาทางวิชาการ พัฒนาครูให้มีจิตวิญญาณความเป็นครูและเป็นครูมืออาชีพ
3.School Profile คือ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ สถานศึกษาต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานศึกษาที่มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
4. Strategic Planning คือ การพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ สร้างแนวทางการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารสถานศึกษาให้ประสบผลสำเร็จและมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง การบริหารคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนจะไม่น่าเบื่อ ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือและคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า(ผู้เรียน) เป็นสำคัญ ต้องนำหลักการไปสู่การปฏิบัติ ต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน โรงเรียนต้องมีการจัดโครงสร้างที่ชัดเจน ส่งเสริมจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นการปฏิบัติจริง และมีการใช้สื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แสวงหาความร่วมมือกับชุมชนและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมในการจัดการเรียนรู้

ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ถ้าหากการปฏิรูปการศึกษารอบสองไม่ติดกับดักทางการเมือง ครูและผู้บริหารไม่ติดกับดักทางปัญญา ทุกภาคส่วนร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยยึดคุณภาพผู้เรียนเป็นตัวตั้งและเป็น“หัวใจ” ในการพัฒนา ทำให้การศึกษาไม่แยกออกจากสังคมหรือชีวิตจริง
เชื่อว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนต้องสูงขึ้น สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนมีความรู้(เก่ง) มีคุณธรรม จริยธรรม(ดี) และมีความสุข เป็นคุณภาพของเด็กไทยในอนาคต เป็นผู้ที่มีความสามารถ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ก้าวไกลสู่สากล และมีความเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ มีคุณลักษณะนิสัยตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ได้แก่ ใฝ่ดี ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนโฉมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย
น่าจะถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้อง Transform...
It’s time that the principal must be Transform…

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความ เรื่อง “การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา”

บทความ เรื่อง
“การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา”

โดย นายสุวิทย์ ยอดสละ
นิสิตปริญญาเอก สาขา การบริหารและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การสร้างคุณภาพหรือการประกันคุณภาพมีความสำคัญมาก เพราะการประกันคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบคุณภาพทุกระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจสินค้าหรือบริการ และบรรลุถึงความต้องการด้านคุณภาพที่กำหนดให้น่าพอใจการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งในปัจจุบันคุณภาพของผลผลิต คือ ผู้เรียน ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ สะท้อนให้เห็นคุณภาพสถานศึกษาที่บริหารจัดการศึกษาล้มเหลว จึงจำเป็นต้องสร้างพื้นฐานด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
จากการรายงานสภาวะการศึกษาไทย 2551/2552 โดยรองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล ในการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษา โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) พบว่าสถานศึกษาคุณภาพดีมีน้อย คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกระดับมีความแตกต่างกันสูง คะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำเช่น คะแนนจากการทดสอบในระดับช่วงชั้น ป.6 ม.3 และม.6 วิชาส่วนใหญ่ได้เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 และส่วนใหญ่ตกต่ำจาก 5 ปีก่อน ผมอ่านรายงานแล้วรู้สึกเป็นห่วงและเกิดความกังวลขึ้นในใจเป็นอย่างมาก เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย

1.การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึงอะไร
การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การรับประกันคุณภาพของกระบวนการบริหารของโรงเรียนว่า ได้มีการวางแผนการทำงานและดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ผลผลิตของโรงเรียน มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานทางการศึกษาและตรงความต้องการของผู้รับบริการได้ตลอดเวลา
ระบบประกันคุณภาพการศึกษา คือ ระบบการบริหารงานของสถานศึกษาที่ทำให้สามารถบรรลุถึงมาตรฐานคุณภาพที่กำหนดไว้ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความมั่นใจในคุณภาพของสถานศึกษา ระบบดังกล่าวประกอบด้วย 3 ระบบย่อย คือ ระบบการวางแผน ระบบการควบคุมคุณภาพ และระบบการทบทวนและปรับปรุงคุณภาพการปฏิบัติงาน
ระบบประกันคุณภาพการศึกษา มีขั้นตอนและวิธีการไม่ต่างจากระบบประกันคุณภาพ(QA) ระบบบริหารคุณภาพ(QM) หรือระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การ(TQM)

2.ระบบการประกันคุณภาพภายใน มีกระบวนการอย่างไร
ตามกฎกระทรวง ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553
ข้อ 3 ระบบการประกันคุณภาพภายในเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนามาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ต้องประกอบด้วย
(1)การประเมินคุณภาพภายใน
(2)การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
(3)การพัฒนาคุณภาพการศึกษา

3.ระบบการประกันคุณภาพภายใน ดำเนินการอย่างไร
ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน ตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยดำเนินการดังต่อไปนี้
(1)กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(2)จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(3)จัดระบบบริหารและสารสนเทศ
(4)ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
(5)จัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
(6)จัดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(7)จัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน
(8)จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เพื่อเตรียมการรับการประเมินคุณภาพการศึกษาจากองค์กรภายนอก(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.) สถานศึกษาแต่ละแห่งจึงมีแนวทางในการดำเนินงานในการประกันคุณภาพด้วยกระบวนการพัฒนาที่เหมาะสมกับสถานศึกษา เช่น ยึดหลักการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพตามวงจรของ เดมมิ่ง อันได้แก่ การวางแผน (Plan)การปฏิบัติตามแผน(Do)การตรวจสอบหรือประเมินผลการปฏิบัติงาน(Check) และการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา(Action)

4.กรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ประจวบ พิมพะนิตย์ได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คือ
1.การพัฒนาหลักสูตร
2.การพัฒนากระบวนการเรียนการสอน
3.การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการ
การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาการบริหารคุณภาพ ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์ มีการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง(TQM)มีกระบวนการเรียนรู้(พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้)
2.คน คือมีการจัดคน จูงใจและสร้างพลังสู่ความสำเร็จ
3.เทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการดำเนินการ
4.กระบวนการจัดการ โดยควบคุมคุณภาพ (PDCA) ทำงานเป็นมาตรฐาน ทุกคนมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม (ตัดสินใจด้วยตนเอง) และพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ผมเห็นด้วยที่ว่า หัวใจระบบประกันคุณภาพอยู่ที่ระบบพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเราไม่ได้ส่งเสริม ไม่ได้ให้กำลังใจอย่างจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ ผู้บริหารมีส่วนสำคัญในการนำแนวคิดการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงให้รอบด้าน โดย “ปรับยุทธศาสตร์ ฉลาดสร้างคน ค้นเทคโนโลยี มีกระบวนการ”

5.แนวคิดการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา บรรยายพิเศษ ให้ข้อคิดในการดำเนินงานว่า ผู้บริหารทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยให้ข้อคิดในการทำงานให้สำเร็จ 3ประการ ได้แก่ 1)ปลุกให้ตื่น : หมายถึงให้คนอื่นรับทราบ และมีส่วนร่วม มีฐานข้อมูล รู้บทบาทหน้าที่ 2)ยืนให้มั่น : หมายถึง มีวิธีการทำงาน ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูล กลับกลุ่มคุณภาพและดำเนินการพัฒนาในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 3)ลงลึกให้เป็นวัฒนธรรม: หมายถึงหลังจากทำงานเสร็จแล้ว ควรมีการชื่นชม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และให้ขวัญกำลังใจ
ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิทยานุวัฒน์บรรยายพิเศษ “ผลการประเมินภายนอกรอบสอง และทิศทางการประเมินภายนอกรอบสาม” โดยกล่าวว่า 1)มาตรฐานสถานศึกษาให้ใช้เกณฑ์ของสมศ.และสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรอง รัฐบาลต้องช่วยพัฒนา 2)โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิน ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 3)นโยบายเรียนฟรี 15 อย่างมีคุณภาพ เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโรงเรียน 4)การประเมินเพื่อพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งนำร่องก่อน 5)สถานศึกษาที่มีคุณภาพ คือ สถานศึกษาที่ทำประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
ศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)บรรยายพิเศษ “การส่งเสริมประสิทธิภาพระบบการประกันคุณภาพการศึกษา”กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป้าหมายที่ 1: เร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ โดยสะท้อนผลสำเร็จไปที่หน้าที่สำคัญของงานประกันคุณภาพระดับเขตพื้นที่การศึกษา(1)สพท. ต้องรู้ว่าสถานศึกษามีผลการประเมินเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือลดลงกี่โรงเรียน (2) จะเร่งรัดส่งเสริมสถานศึกษาอย่างไร(3) มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร เป้าหมายที่ 2 : พัฒนาโรงเรียนที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานภายนอก รอบสองให้ได้ โดยให้แต่ละเขตพื้นที่กำหนดจำนวน เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนในการพัฒนาเอง แนวดำเนินการ (1) จัดทำฐานข้อมูลโรงเรียน(2) จัดระบบการเข้าถึงข้อมูลโรงเรียน (3)จัดโรงเรียนพี่เลี้ยง(4)สร้างความตระหนักให้ผู้บริหาร : ให้กระตือรือร้นและมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา(5)เสริมสร้างประสิทธิภาพครู : ให้ รู้จักเด็ก มีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และสามารถจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตรของตนเองได้(6)จัดการเรียนรู้ให้นักเรียน : แจ่มใส อ่านได้ คิดเลขได้ ฯลฯ (7) ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม : ยอมรับ ศรัทธา (8) มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา : มีการประเมินตนเอง ต่อเนื่อง และมีความสอดคล้องกับทุกระดับ
ผมเห็นด้วยที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องจริงจังในการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สถานศึกษาเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ พัฒนาโรงเรียนที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานภายนอกรอบสอง โดยให้สถานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามคำชี้แนะของสมศ.หรืออาจจะร่วมกันพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่ไม่ผ่านการรับรอง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการรับรอง โดยเฉพาะมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยเนื่องจากขาดแคลนครูสาขา ปฐมวัย ต้องหาทางช่วยกันอย่างเร่งด่วน สถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กขณะนี้มีสองอย่าง คือ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต จึงต้องเร่งการสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การสร้างความเข้มแข็งและความพร้อมของสถานศึกษาให้ได้
ผมได้ยินผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่าการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหลงทาง เพราะว่าผู้บริหารไม่มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ไม่คำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนมัวแต่ทำงานรองมากกว่างานหลัก กล่าวคือ พัฒนาด้านบริบท สภาพแวดล้อม ปรับปรุงอาคารสถานที่ แต่ไม่พัฒนางานวิชาการที่จะส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียน
ผมไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น ผมเห็นว่าการทำงานต้องพัฒนาสภาพบริบทควบคู่กับการพัฒนาวิชาการ ถ้าหากพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เมื่อเข้าไปในโรงเรียนแล้วพบว่า โรงเรียนน่าดู น่าอยู่ ครูจิตใจใฝ่คุณภาพ น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรืออาจเป็นเพราะว่างานพัฒนาด้านกายภาพเป็นรูปธรรมเห็นผลทันตา แต่งานพัฒนาวิชาการนั้นเห็นผลช้าไม่เป็นรูปธรรมดังที่หลายคนคิดก็ได้

6.แนวทางการสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพ
แนวทางการสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพ ประกอบด้วย
1.การวิเคราะห์บริบท (Context Analysis)โดยใช้หลักการ SWOT ทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือสถานศึกษา สามารถจัดวางยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล(Good Governance)ทำให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจหลักการสำคัญของธรรมาภิบาลและนำไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทำให้การบริหารงานเกิดความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายได้รับความสุขและความสำเร็จในการทำงาน เกิดความมั่นใจในการบริหารคุณภาพการจัดการศึกษา
3.การนำองค์การและเทคโนโลยีการบริหารการศึกษา (Leading Organization and Education Management Technology) ทำให้ผู้บริหารทราบถึงวิธีการที่ผู้บริหารจะชี้นำองค์กรโดยอาศัยการสื่อสาร การสร้างบรรยากาศ ความรับผิดชอบต่อสังคม และเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบริหารการศึกษาและทักษะที่จำเป็นต่อการบริหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4.การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์(Strategy Planning and Formulation) ทำให้เห็นแผนภาพที่แสดงถึงแนวทางการวางแผนและการกำหนยุทธศาสตร์ในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
5.การนำแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ(Strategy Implementation)เป็นแนวทางในการนำแผนยุทธศาสตร์ลงสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแผนมีความยั่งยืน
6.การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เนื่องจากบริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีส่วนที่มีผลกระทบต่อการบริหารการศึกษา สถานศึกษาจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
7.การสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (Network Building and Participatory) เนื่องจากกระบวนการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษามีพลังในการพัฒนา จึงต้องสร้างระบบการดำเนินงานทางการศึกษาร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบร่วมกัน
8.การควบคุม การวัดประเมิน และการจัดการความรู้ (Control , Measurement, Evaluation and Knowledge Management) เป็นการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการบริหารสถานศึกษา จากแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติครบวงจร ทำให้สถานศึกษามีความพร้อมในการรับข้อมูลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ การจัดการความรู้เป็นการสร้างสินทรัพย์ทางความรู้ให้อยู่กับสถานศึกษา โดยพัฒนาอย่างเป็นระบบให้องค์ความรู้ถูกถ่ายทอดและเก็บรักษาไว้ที่สถานศึกษา
9.การปฏิบัติที่เป็นเลิศ(Best Practice)เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศในการบริหารงาน โดยนำหลักทางการบริหารมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ
ผมมีความคิดเห็นว่า คุณภาพสถานศึกษา หมายถึง คุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู คุณภาพผู้บริหาร และคุณภาพโรงเรียนนั่นเอง ถ้าทุกคนมองภาพใหญ่(Big Picture) ร่วมกัน คงจะเห็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพสถานศึกษา โดยเอาคุณภาพนักเรียนเป็นตัวตั้ง การสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการส่งเสริมและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการศึกษา และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้

การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา มีความสำคัญยิ่ง คุณภาพการจัดการศึกษาเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจและห่วงใย สถานศึกษาจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมว่า มีความสามารถในการจัดการศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนมีคุณธรรม(ดี)มีความรู้(เก่ง) และอยู่ในสังคมได้อย่างความสุข ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานที่สูงขึ้น ผู้บริหารเป็นมืออาชีพและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้นำทางวิชาการ มีจิตอาสา ประชาชนได้รับความสุขจากการจัดการศึกษาตามที่คาดหวัง สถานศึกษามีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่กำหนดว่า “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ภายใต้การขับเคลื่อนแนวทาง 4 ใหม่ คือ คุณภาพคนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการบริหารและการจัดการยุคใหม่

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

the current educational administration

the current educational administration : ได้อะไรจากการสัมมนา.
14 ตุลาคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยากร : Bruce Jeans.

ผู้เข้าร่วมสัมมนา นิสิตปริญาเอก 3 ศูนย์ คือ มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา (42 คน)

สิ่งที่ผมยังค้างคาใจ..และต้องการคำอธิบายและหาคำตอบ
Bruce Jeans.บอกว่า การวิจัยไม่ใช่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับบริบทนั้น..
อาจเป็นเพราะผมฟังภาษาอังกฤษและแปลความผิดก็ได้ แต่ผมจับประเด็นได้แบบนี้ ใครรู้ช่วยตอบผมที...

เนื้อหาที่ Bruce Jeans. กล่าวถึง
3 simple of school
1.A linear industria model
2.A human capital model
3.A human potential model

Venn diagram
1.What processes
2.What kind of decisions
3.What kind of administrators

3 dimentional model
1.dimension A Power distribution and/or flexibility
2.dimension B Accountability
3.dimension C Human relation and/or communication

F = ma

Bruce Jeans ท่านสอนและอธิบายเนื้อเรื่องได้ดีมาก มีความสุขในการให้ความรู้

เดี๋ยวผมจะนำเสนอเนื้อหาต่อ...ผู้รู้ช่วยอธิบายความสงสัยที่ผมตั้งประเด้นไว้ที

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต”

“ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต”
โลกและการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคต่างๆ ถึงปัจจุบัน
จากยุคที่ 1 ยุคเกษตรกรรม สู่ยุคอุตสาหกรรม สู่ยุค Information Technology ปัจจุบันเรากำลังก้าวสู่ยุคที่ 4 หรือ Forth Wave ซึ่งในอนาคตเราจะต้องเน้น
-sustainability+
-wisdom+
-creativity+
-Innovation+
-intellectual capital.
การบริหารการศึกษาในวันนี้..เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจภาพใหญ่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และบทบาทของระบบการศึกษาไทย ผมขอเสนอทฤษฎี HR Architecture
ผมคิดว่าปัจจัยที่ท้าทายของการบริหารการศึกษาในวันนี้..ขอยกเพียง 3 เรื่องใหญ่และสำคัญเพื่อการทำงานในระดับองค์กร (Micro) คือ
1.ความท้าทายเรื่องการพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้เด็กไทยคิดเป็น..วิเคราะห์เป็น คิดเป็นวิทยาศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดเชิงนวัตกรรม มีคุณธรรมจริยธรรมและมีจิตสาธารณะ
2.ความท้ายทายเรื่องการสร้างและบริหารเครือข่ายและแนวร่วม(Networking) เพื่อสร้างพลัง สร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการศึกษา
3.ความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการ(Management)โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจ+แรงบันดาลใจให้บุคลากรทำงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ
สำหรับความท้าทายเรื่องการพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้เด็กไทยคิด เป็น..วิเคราะห์เป็น คิดเป็นวิทยาศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดเชิงนวัตกรรม มีคุณธรรมจริยธรรมและมีจิตสาธารณะ ผมขอเสนอแนวคิดดังต่อไปนี้
•ทฤษฎี 4 L’s
•ทฤษฎี 2 R’s
•ทฤษฎี 2 I’s
•กฎของ Peter Senge
4 L’s
•Learning Methodology
•Learning Environment
•Learning Opportunities
•Learning Communities
2 R’s
•Reality
•Relevance

2 i’s
•Inspiration
•Imagination