วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แท้จริงแล้วกฏ 80/20 คืออะไร

แท้จริงแล้วกฎ 80/20 คืออะไร?

มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนหนึ่งคงจะเคยได้ยินหรือ รับทราบเกี่ยวกับ หลักการ 80/20 หรือที่เรียกกันว่า Pareto Principle หรือ หลักการของพาเรโต (บางแห่งเรียก 80-20 หรือ Vital Few หรือ principle of factor sparsity) กันมาบ้างนะครับ โดยหลักคิดกว้างๆ ของกฎ 80/20 ก็คือ ร้อยละ 80 ของปัญหา มักจะมาจากสาเหตุเพียงแค่ร้อยละ 20 เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงพอจะทราบหลักทั่วๆ ไป แต่ยังไม่ทราบที่มาที่ไป รวมทั้งเบื้องหลัง และประโยชน์ ซึ่งผมจะขอนำมาเสนอในสัปดาห์นี้ครับ

หลักการนี้ตั้งชื่อตาม Vilfredo Pareto นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียน ซึ่ง Pareto เขาตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ร้อยละ 80 ของความมั่งคั่งในประเทศอิตาลี ถูกครอบครองโดยคนกลุ่มหนึ่งที่มีเพียงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคนทั่วๆ ไป ก็มักจะนึกว่า หลังจากที่ Pareto ได้ตั้งข้อสังเกตนี้ขึ้นมาก็บัญญัติเป็นกฎแล้วตั้งชื่อตามเขา แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่นำข้อสังเกตของ Pareto มาคิดเป็นรูปธรรมและตั้งเป็นกฎขึ้นมากลับเป็น Joseph Juran ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตำรับด้านคุณภาพในปัจจุบัน

ซึ่งก็มีเรื่องเล่ากึ่งๆ แซวว่า จริงๆ จะเรียกเป็น Juran’s Assumption หรือสมมติฐานของ Juran ก็ได้ เพียงแต่ฟังดูไม่ค่อยเพราะ ก็เลยใช้เป็น Pareto Principle แทน อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2003 ก็ได้มีความพยายามจาก American Society for Quality ในการเปลี่ยนชื่อหลักการนี้ให้เป็น Juran Principle เพื่อเป็นเกียรติแก่ Joseph Juran แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สำเร็จนะครับ

แนวคิดในเรื่องของ 80/20 นั้น ดูเหมือนจะเป็นหลักสากลที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางมากครับ แต่ก็ยังเจอที่เข้าใจผิดกันบ่อยๆ เหมือนกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลข 80 และ 20 ที่พอนำมาตั้งเป็นกฎแล้ว เราก็มักจะไปยึดติดกับตัวเลขสองตัวเลขนี้ ทำให้ในสถานการณ์ต่างๆ เราพยายามหาเจ้าตัวร้อยละ 80 และร้อยละ 20 ให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในสถานการณ์ต่างๆ ตัวเลขไม่จำเป็นต้องเป็น 80 และ 20 ก็ได้ครับ เช่น ร้อยละ 80 ของผลสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากร้อยละ 10 ของความพยายาม (ซึ่งก็จะกลายเป็นกฎ 80/10 ไป) หรืออาจจะเป็น 90/10 ก็ได้

ดังนั้น เวลาเรานำกฎนี้ไปใช้ เขาไม่ต้องการให้ไปยึดติดที่ตัวเลขทั้งสองตัว และไม่จำเป็นที่จะต้องรวมกันแล้วเท่ากับร้อย เพียงแต่กฎนี้เป็นแนวทางหรือกรอบให้เราคิดได้มากกว่าครับ

จริงๆ แล้ว ตอนที่ Juran คิดเรื่องกฎ 80/20 นั้น ก็เพื่อแยกสิ่งที่เขาเรียกว่า Vital Few หรือสิ่งที่มีความสำคัญเพียงไม่กี่ประการ ออกจาก Useful Many เพื่อช่วยให้ผู้บริหารได้ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ท่านผู้อ่านลองนึกดูอย่างง่ายๆ นะครับว่า เมื่อท่านมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ลูกค้าเริ่มไม่ซื้อสินค้าหรือบริการของท่าน ท่านก็อาจจะประชุมผู้บริหารเพื่อระดมสมอง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าไม่ซื้อสินค้าของท่าน โดยท่านอาจจะหาสาเหตุมาได้เยอะแยะเต็มไปหมด (สมมติสิบกว่าข้อ) แต่ประเด็นที่สำคัญ คือไม่ใช่ว่าสาเหตุทั้งสิบกว่าข้อ จะมีความสำคัญหรือส่งผลต่อปัญหาที่เกิดขึ้น (ลูกค้าไม่ซื้อสินค้า)

ดังนั้น ท่านผู้อ่านก็จะต้องใช้หลักการ 80/20 หรือ Pareto Principle มาเพื่อช่วยหาว่าจริงๆ แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ลูกค้าไม่ซื้อสินค้า ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญจริงๆ เพียงแค่ 2-3 ข้อก็ได้ (สาเหตุส่วนน้อย ที่นำไปสู่ปัญหาส่วนใหญ่)

หลักการนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วๆ ไปเลยครับ ตัวอย่างที่ผมมักจะใช้ตอนสอนหนังสือนิสิตที่จุฬาฯ คือการดูหนังสือสอบ หรือการทำรายงานครับ ท่านผู้อ่านอาจจะลองสังเกตตัวท่านเองในอดีตก็ได้ครับ นิสิตส่วนใหญ่มีเวลาในการดูหนังสือ สิบกว่าสัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่แล้วหนังสือที่ได้ดูจะใช้เฉพาะช่วงเวลา ประมาณสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนสอบเท่านั้น (เช่นในช่วงนี้เป็นต้น)

ประโยชน์ของ Pareto Principle คือช่วยทำให้พวกเราได้มุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีความสำคัญจริงๆ เพียงไม่กี่อย่าง พูดง่ายๆ คือในสิ่งที่เราในแต่ละวันนั้น อาจจะมีสิ่งที่ทำเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่มีประโยชน์หรือมีค่าต่อความ สำเร็จจริงๆ ดังนั้น เราคงจะต้องหาให้ได้ครับว่าในการทำงานชิ้นหนึ่งๆ อะไรคือส่วนที่เป็นส่วนน้อย แต่ส่งผลกระทบต่อผลสำเร็จส่วนใหญ่ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นส่วนน้อยแต่สำคัญ (Vital Few) เป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่อาจจะละเลยได้

หลักการของ Pareto สามารถนำมาปรับใช้ได้ในหลายๆ สถานการณ์นะครับ ท่านผู้อ่านลองถามตนเองในสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ซิครับ สมมติท่านผู้อ่านมีลูกค้าอยู่ 100 ราย เคยสำรวจหรือเก็บข้อมูลไหมครับว่า กลุ่มที่ทำรายได้หรือกำไรส่วนใหญ่ให้กับบริษัทนั้นเป็นกลุ่มไหน อาจจะมีเพียงแค่ไม่กี่รายหรือเพียงแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น เช่นเดียวกัน ถ้าท่านผู้อ่านมีผลิตภัณฑ์อยู่หลายชนิด อาจจะมีเพียงแค่ไม่กี่ชนิดที่ก่อให้เกิดรายได้หรือกำไรส่วนใหญ่

นอกจากเรื่องของยอดขายและรายได้แล้ว ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกนะครับ เช่น การตัดสินใจที่สำคัญ จะเกิดจากเวลาที่ใช้ในการประชุมเพียงแค่ร้อยละ 20 หรือส่วนใหญ่แล้วผู้บริหารจะถูกรบกวน จากคนเพียงแค่ส่วนน้อยเพียงไม่กี่คน หรือกลุ่ม หรือข้อร้องเรียนของลูกค้าส่วนใหญ่ จะมาจากปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ อย่างไรก็ดี ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่า เราอย่าไปยึดติดกับตัวเลข 80 หรือ 20 ผมมองว่าตัวเลขทั้งสองตัวเลขเ ป็นเหมือนตัวเลขที่อุปมาขึ้นมา ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันตัวเลขย่อมไม่เท่ากัน

หลักการของ Pareto เป็นหลักการง่ายๆ แต่สามารถนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ดีนะครับ โดยเราจะต้องหาเจ้า 20% ให้เจอ และให้ความสำคัญกับส่วนนี้ เหมือนกับที่ผมนั่งเขียนบทความนี้เหมือนกันครับ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกินเวลากว่าสี่ชั่วโมง แต่ปรากฏว่าเวลาที่นั่งพิมพ์จริงๆ ใช้เพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น

1 ความคิดเห็น:

สุวิทย์ ยอดสละ กล่าวว่า...

ฝากเพื่อพ้องน้องนำไปประยุกต์ใช้นะครับ
ได้ผลเช่นไรกรุณารายงานข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ให้ทราบด้วยครับ........