วิทยาการวิจัยขั้นสูง (Advanced Research Methodology)
นาย สุวิทย์ ยอดสละ
นิสิตปริญญาเอก สาขาการบริหารและพัฒนาการศึกษา รุ่นที่ 7
ศูนย์มหาสารคาม
ความอยากรู้ของมนุษย์ก่อให้เกิดการแสวงหาความจริง โดยการค้นคว้าหาความรู้ (Search) และพิสูจน์ว่าความรู้นั้น เป็นจริงด้วยการค้นคว้าทดลองอีกครั้ง (Research) จึงเกิดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กลับสู่จุดเดิมเสมือนวงล้อ (Cyclical) หรือเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเรียกว่า “การวิจัย”
ความหมายการวิจัย
มีนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายในลักษณะใกล้เคียงกันไว้หลายแนวคิด เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (2546:1072) ให้ความหมายการวิจัยว่า “การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา”
ดุจเดือน พันธุมนาวัน (2549:6) ได้สรุปความหมายการวิจัยว่า การวิจัย หมายถึง การแสวงหาความรู้ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบในการตั้งคำถามการวิจัย มีการแบ่งกิจกรรมวิจัยย่อยๆ เพื่อตอบคำถามทางการวิจัย มีกาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการทดสอบสมมติฐานตลอดจน การตีความข้อมูลที่วิเคราะห์เหล่านั้น เพื่อให้ได้ข้อสรุป ที่น่าเชื่อถือว่า อะไรเกี่ยวข้องกับอะไร และเป็นเพราะเหตุใด
บุญชม ศรีสะอาด (2545:11) ได้สรุปนิยามการวิจัยไว้ดังนี้ การวิจัย คือกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ที่เชื่อถือได้ โดยมีลักษณะ เป็นกระบวนการที่มีระบบ แบบแผน มีจุดหมายที่แน่นอนและชัดเจน ดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างรอบคอบ ไม่ลำเอียง มีหลักเหตุผล บันทึกและรายงานออกมาอย่างระมัดระวัง
จึงสรุปได้ว่า การวิจัย หมายถึง กระบวนการแสวงหาความรู้ ด้วยการค้นคว้า โดยใช้กระบวนการที่มีระบบ แบบแผน ตามหลักวิชาการ เพื่อทดสอบสมมติฐาน มีการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนบันทึกข้อมูลและข้อสรุปเป็นที่น่าเชื่อถือ
วิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodology) หมายถึง ขั้นตอนในการวิจัย ได้แก่ การกำหนดปัญหาการวิจัย การศึกษาและรายงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การกำหนดสมมติฐานการวิจัย การกำหนดกลุ่มประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือวิจัย การรวบรวม การนำเสนอ การวิเคราะห์ และการแปลความหมายผลการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งรวมอยู่ในวิธีวิทยาทางสถิติ ตลอดจนเทคนิควิธีการวัดและประเมินผล
วิธีวิทยาการวิจัยขั้นสูง (Advanced Research Methodology) หมายถึง วิธีวิทยาเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่วิธีวิทยาขั้นพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมแบบแผนการวิจัยที่ซับซ้อน มีเทคนิควิธีการที่จะช่วยที่ได้ผลการวิจัยที่เที่ยงตรงมากขึ้น มีการประยุกต์ใช้เทคนิควิธีการประเมินใหม่ๆ มีลักษณะที่สำคัญ 5 ประการ
1.มีลักษณะของวิธีวิทยาที่การคำนวณอย่างเข้มข้นและต้องมีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการปฏิบัติงาน
2.ลักษณะเป็นบูรณาการจากวิธีวิทยาการวิจัยหลายสาขา
3.ลักษณะวิธีวิทยาการวิเคราะห์ที่มีการผ่อนคลายข้อตกลงเบื้องต้น (Relax assumptions) ของวิธีวิทยาการวิเคราะห์แบบเดิม
4.ลักษณะวิธีวิทยาการวิเคราะห์ที่ใช้งานได้กว้างขวางมีความทั่วไปมากขึ้น
5.ลักษณะวิธีวิทยาการวิเคราะห์ที่มีความถูกต้อง และมีความไว มีความแกร่งมากขึ้น
หมายเหตุ
วิทยาการวิจัยขั้นพื้นฐาน มีเนื้อหาสาระครอบคลุมเฉพาะด้าน การวิจัยที่เป็นแบบ การวิจัยแบบบรรยาย (Descriptive research) การวิจัยทดลอง การวิจัยกึ่งทดลอง (experimental /quasi- experimental research) มีแบบแผน (design) การวิจัยง่ายๆไม่ซับซ้อน ด้านการวัดใช้ทฤษฎีการวัดแบบดั้งเดิม (classical test theory) ด้านการประเมินผล เฉพาะหลักการและโมเดลการประเมินเบื้องต้น และในด้านสถิติมีเฉพาะสถิติบรรยาย สถิติด้านการสุ่มตัวอย่าง และสถิติวิเคราะห์ เฉพาะส่วนที่เป็นสถิตินั้นมา.ตัวและสถิติอนุมานเบื้องต้นในการเปรียบเทียบ และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2-3 ตัวแปร
วิธีวิทยาการขั้นสูง ที่เป็นวิธีวิทยาการใหม่ๆ ครอบคลุมวิธีวิทยา 4 ด้าน คือ
1.ด้านกำหนดแบบแผนการวิจัย
2.ด้านการสุ่มตัวอย่าง
3.ด้านการวัดและการประเมิน
4.ด้านสถิติ
วิธีวิทยาการด้านกำหนดแบบแผนการวิจัย
เป็นผลจากความพยายามของนักวิจัยที่จะปรับปรุงวิธีที่มีอยู่ให้มีมาตรฐาน และคุณภาพดีมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของนักวิจัย ทำให้เกิดการพัฒนาการวิจัยที่มีแบบแผนการวิจัยเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งมีรูปแบบที่น่าสนใจใหม่ ดังนี้
1.การวิจัยนโยบาย (Policy Research) และการวิจัยเพื่อวางแผนการศึกษา เป็นวิธีวิทยาการที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะความต้องการของผู้บริหาร ที่จะนำผลวิจัยไปใช้ในการตัดสินใจ และความต้องการผลการวิจัยไปใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการของ บุคลากร การวิจัยนโยบายประเภทสหวิทยาการ มีความหมายรวมถึงการวิเคราะห์นโยบาย ซึ่งเป็นการศึกษาประเมินผลและทำนายผลที่เกิดจากการกำหนดนโยบายแบบต่างๆ เปรียบเทียบกัน ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการวิจัย ดังนี้
ขั้นแรก เริ่มจากการกำหนดปัญหาการวิจัยจากสภาพที่เป็นปัญหา ความเดือดร้อนในสังคม,ศึกษารายงานเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดสมมติฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร สาเหตุที่ได้จากนโยบายและตัวแปรที่ได้จากปัญหาสังคมและกำหนดสมมติฐาน ที่แสดงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้นโยบายที่เป็นทางเลือกใหม่ จากนั้นเป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลและแปลความหมาย ตัวอย่างวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้กันมากได้แก่ การวิเคราะห์ประโยชน์-ต้น ทุน การวิเคราะห์ระบบขั้นตอนสุดท้าย เป็นการสรุป เสนอทางเลือกในการดำเนินงานต่อผู้บริหารหรือผู้บริโภคงานวิจัยนโยบาย ทั้งนี้ ผู้วิจัยนโยบายต้องมีความรอบรู้ และมีความชำนาญในการใช้เทคนิควิธีทางเศรษฐศาสตร์ การเงินสาธารณะ พฤติกรรมองค์กร การสื่อสารและการนิเทศ การวิเคราะห์ระบบและสถิติ
2.การวิจัยเชิงจำลอง (simulation Research)
เป็นการวิจัยที่มีการจำลอง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
1.เป็นการวิจัยที่มีการจำลองเลียนแบบสถานการณ์จริง
2.การวิจัยจำลองในแนวรัฐศาสตร์ เพื่อตรวจสอบทฤษฎีที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระบบต่างๆ
3.เป็นการวิจัยเชิงจำลองที่ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาระบบงาน
3.การวิจัยอนาคต (Futures Research)
เป็นวิธีการวิจัยอนาคตที่มีจุดหมายเพื่อบรรยายทางเลือกอนาคตที่เป็นไปได้แบบ ต่างๆ เพื่อประเมินสถานภาพในปัจจุบันและชี้ผลกระทบที่เป็นไปได้ ในแต่ละทางเลือกอนาคตเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การวิจัยอนาคตแตกต่างไปจากเดิมเนื่องจากมีการประยุกต์เทคนิควิธีการวิจัยแบบ อื่นๆมาใช้ร่วมกันกับการวิจัยอนาคต ดังจะเห็นได้ดังนี้
3.1การวิจัยอนาคตแบบ Ethnographic Delphi Futures Research (EDFR) เป็นการวิจัยที่ไม่ต้องลงทุนมาก เหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง เป็นการใช้ข้อเท็จจริงในอดีตมาแก้ปัญหาอนาคต
3.2การวิจัยโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ผลกระทบได้ (Cross- Impact Analysis) การวิจัยโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ผลกระทบได้.
3.3การวิจัยโดยใช้เทคนิคการสร้างภาพอนาคต (Scenarios) เป็น ภาพรวมของสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต หรือแนวโน้มของปรากฏการณ์ตามเงื่อนไขทางเลือกอนาคตแบบต่างๆ ขั้นตอนการสร้างภาพอนาคตประกอบด้วย การพยากรณ์การเกิดเหตุการณ์แต่ละส่วน การวิเคราะห์ผลกระทบไขว้หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ และการเขียนภาพอนาคต ภาพอนาคตที่ได้อาจแสดงในรูปของการบรรยายภาพ หรือแผนภาพอนาคตก็ได้
3.4การวิจัยโดยใช้กระบวนการอนาคตปริทัศน์ (Future Scanning Process)คือ การจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยใช้เรดาห์ชนิดหนึ่งกวาดดูโลกอย่างมีระบบระเบียบให้ทราบถึงปฏิสัมพันธ์ ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ และเตือนว่าจะเกิดอะไรใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้องค์กรสามารถจัดการกับแนวโน้มคัดสรรที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และดำเนินการให้องค์กรพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ ขั้นตอนการใช้กระบวนการอนาคตปริทัศน์ ได้แก่ การกำหนด เป้าหมายการกวาดตรวจหรือปริทัศน์อย่างเป็นทางการจากเอกสาร และการสัมภาษณ์ การหาความตรงของข้อมูล การประชุมทีมนักวิจัยเพื่อร่างแนวโน้มที่บ่งบอกความเปลี่ยนแปลง การคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาแนวโน้มตามที่รวบรวมได้ การจัดประเภทของสาระให้เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงแต่ละด้าน และการพัฒนาว่าจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรรวมทั้งการทำนาย กับการกำหนดกิจกรรมที่น่าจะเกิดจากแนวโน้มนั้น
4.การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
การวิจัยเชิงคุณภาพมีจุดมุ่งหมายในการศึกษาปัญหาในแนวลึกมากกว่าแนวกว้าง เป็นการวิจัยเพื่อตอบคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ปรากฏการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลการวิจัยนำไปสู่การสรุปเป็นทฤษฎีที่เรียกว่า grounded theory วิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพที่ได้รับการพัฒนา แผนแบบการวิจัยเชิงคุณภาพในปัจจุบันแตกต่างกันเป็นสามแบบตามแนวปรัชญา หน้าที่นิยม (functionalism) โครงสร้างนิยม (structuralism) และวิพากษ์นิยม (criticalism) นอก จากนี้การวิจัยเชิงคุณภาพยังมุ่งผสมผสานเทคนิควิธีการวิจัยเชิงปริมาณมาก ขึ้นเพื่อแก้จุดอ่อนของการวิจัยเชิงคุณภาพ เทคนิควิธีการวิจัยที่ได้รับการพัฒนาที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
4.1การศึกษาหลายกรณี และการศึกษาหลายพื้นที่ (Multicase and Multisite Studies) เนื่องจากการศึกษากรณีเดียว หรือพื้นที่เดียว มีข้อจำกัดในด้านความตรงภายนอก (external validity) นัก วิจัยคุณภาพจึงได้พัฒนาวิธีวิทยาให้ดีขึ้นโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างหลาย กรณี หรือหลายแหล่งเพื่อให้มีความเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากร และเพื่อควบคุมสิ่งที่อาจปนเปื้อนปรากฏการณ์ที่นักวิจัยต้องการศึกษา หลักการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นหลักการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (stratified random sampling) โดย ใช้ลักษณะที่ต้องการควบคุมเป็นเกณฑ์ในการแบ่งชั้น การวิจัยที่เป็นการศึกษาหลายกรณี ให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบเพื่อการสรุปอ้างอิง ส่วนการวิจัยที่เป็นการศึกษาหลายพื้นที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทฤษฎีที่ เป็นจริงในทุกพื้นที่ และต้องใช้กระบวนการอุปมานเชิงวิเคราะห์ (analytic induction) ในการวิจัย
4.2เทคนิคการวิจัยโดยการจัดกลุ่มสนทนา (Focus Group Research) การวิจัยนี้พัฒนามาจากเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบการสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม และแบบมีจุดเน้น (group and focus interview) ประกอบการเลือกกลุ่มตัวอย่างทีมีลักษณะเฉพาะร่วมกัน วิธีการวิจัยจัดว่าเป็นการวิจัยที่ใช้พลวัตรของกลุ่ม 8-12 กลุ่ม กระตุ้นให้สมาชิกของกลุ่มแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกของตน การจัดกลุ่มสนทนาใช้หลักการให้สมาชิกภายในกลุ่มแต่ละกลุ่มมีลักษณะร่วมกัน และกลุ่มสนทนาทุกกลุ่มต้องมีลักษณะต่างกันตามเงื่อนไขที่นักวิจัยต้องการ เปรียบเทียบสาระที่ได้จากการสนทนา กิจกรรมการดำเนินการจัดกลุ่มสนทนามีหลักการและวิธีการเฉพาะที่ต้องมีการฝึก ฝนก่อนการลงมือทำการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลต้องมีการถอดเทปบันทึกการสนทนาและวิเคราะห์เนื้อหา
4.3การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาชุมชนโดย เน้นการวิเคราะห์ปัญหา การแก้ปัญหา และการติดตามผลการแก้ปัญหาของชุมชน โดยที่สมาชิกของชุมชนนั้นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ และการวิจัยด้วย
4.4.การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) การวิเคราะห์เนื้อหาเป็นวิธีวิทยาการวิจัยที่ใช้กระบวนการหลายแบบมาสรุปอ้าง อิงผลที่ได้จากข้อความ หลักการสำคัญของการวิเคราะห์เนื้อหาคือการจำแนกคำ กลุ่มคำประโยคจากข้อความเข้ากลุ่ม จากนั้นจึงจัดกลุ่มนำเสนอข้อค้นพบพร้อมทั้งแปลความหมาย ปัจจุบันนี้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาในประเทศไทยทำได้สะดวกมากขึ้นโดยใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
4.5 การสังเคราะห์งานวิจัยด้วยการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) การวิเคราะห์อภิมานเป็นวิธีวิทยาการวิจัยที่พัฒนาใหม่ล่าสุดในการสังเคราะห์ งานวิจัยเชิงปริมาณ หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์อภิมานคือการประมาณค่าผลงานวิจัยให้อยู่ในรูป ดัชนีมาตรฐาน และใช้วิธีการทางสถิติตรวจสอบว่าความแปรปรวนในดัชนีมาตรฐานเหล่านั้นมีค่า เหมาะสมที่จะสรุปได้หรือไม่ หากยังไม่สามารถสรุปได้ต้องแยกศึกษาตามตัวแปรปรับ (moderator variables) หรือวิเคราะห์ว่าลักษณะงานวิจัยสามารถอธิบายความแตกต่างในดัชนีมาตรฐานได้ อย่างไร
4.6 การศึกษาหน่วยตัวอย่างเดียว (Single Subject Study) การวิจัยที่เป็นการศึกษาหน่วยตัวอย่างเดียวมีลักษณะแตกต่างจากการศึกษาราย กรณีเพราะการศึกษารายกรณีเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ส่วนการศึกษาหน่วยตัวอย่างเดียวเป็นการวิจัยเชิงปริมาณที่มีการเก็บรวบรวม ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง หรือมีการวัดซ้ำ (repeated measures) เป้าหมายสำคัญของการวิจัย คือ การศึกษาความเจริญเติบโต ความเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาการของหน่วยตัวอย่างในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
2. วิธีวิทยาด้านการสุ่มตัวอย่าง
ด้านการสุ่มตัวอย่างมีการพัฒนาเทคนิควิธีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับด้าน อื่นๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากวิธีการที่ใช้อยู่มีความสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ การประมาณค่าของขนาดกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับการวิจัย สูตรที่ได้รับการยอมรับว่า มีความถูกต้อง และใช้กันมากคือสูตรของ Cohen, J. (1988) ซึ่งมีการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สารสนเทศจากค่าขนาดอิทธิพล ค่าความคลาดเคลื่อนประเภทที่ I และประเภทที่ II (อัลฟา และเบต้า) และสถิติที่ต้องการใช้ในการทดสอบสมมติฐาน สำหรับวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างนั้น มีการพัฒนาเทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบเมทริกซ์ (matrix sampling) ให้ดีขึ้น เรียกว่า เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบ balanced incomplete block (BIB)
3. วิธีวิทยาด้านการวัดและประเมิน
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา วิธีวิทยาด้านการวัดและประเมินมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการพัฒนามโนทัศน์เกี่ยวกับการวัดและการประเมิน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพบริบทในการวัดและการประเมิน และจากความต้องการ ความคาดหวังของผู้ต้องการใช้ผลการวัดและการประเมิน วิธีวิทยาใหม่ๆที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
3.1 วิทยาการด้านการวัด องค์กร American Council on Education (ACE) ได้เริ่มจัดพิมพ์หนังสือ ชื่อ Educational Measurement เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ และวิธีวิทยาด้านการวัด โดยเฉพาะการวัดทางการศึกษา ฉบับแรกพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1951 ฉบับที่สอง พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1971 และได้ร่วมมือกับ National Council on Measurement in Education ในการพิมพ์ฉบับที่สามเมื่อ ค.ศ. 1989 Linn, R.L. (1989) ได้เปรียบเทียบหนังสือฉบับที่สองและฉบับที่สามให้เห็นว่า นับจาก ค.ศ. 1971 อันเป็นปีที่พิมพ์หนังสือฉบับที่สองนั้น วิทยาการด้านการวัดมีการพัฒนาไปมาก วิธีวิทยาการขั้นสูงที่น่าสนใจมีดังนี้
3.1.1 ทฤษฎีการตอบสนองรายข้อ (Item-Response Theory = IRT) แม้ว่า Lawley จะได้เสนอโมเดลทฤษฎีการตอบสนองรายข้อไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1943 แล้วก็ตาม แต่ในระยะนั้นไม่มีการนำโมเดลไปใช้ในทางปฏิบัติ มีเพียงการเสนอแนวคิดและหลักการ คริสต์ศตวรรษที่ 1970 นับ ว่าเป็นช่วงที่เริ่มมีการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการตอบสนองรายข้อ และทำให้วิธีวิทยาการด้านการวัดมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องการปรับเทียบข้อสอบ (test equating) การทำหน้าที่ต่างกัน (differential item functioning) หรือความลำเอียงของข้อสอบ (test bias) การบริหารการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ (computerized test administration) การสร้างมาตรวัด และการหาปกติวิสัย (scaling and norming) Hambleton, R.K. (1989) สรุป ลักษณะของโมเดลการตอบสนองรายข้อที่ได้รับการพัฒนาใหม่ๆในช่วงสองทศวรรษ ที่ผ่านมาว่า โมเดลการตอบสนองรายข้อนอกจากจะมีโมเดลโลจิสติกแบบเอกมิติหนึ่ง สอง สาม และสี่พารามิเตอร์ และโมเดลโอไจว์ปกติซึ่งใช้กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความถนัดที่เป็นข้อมูลทวิภาคแล้ว ยังมีโมเดลอีกหลายแบบที่นักวัดผลการศึกษาได้พัฒนาจากโมเดลการตอบสนองรายข้อ การ ใช้โมเดลตอบสนองรายข้อเป็นประโยชน์ต่อการวัดผลการศึกษามาก เมื่อข้อมูลสอดคล้องกับข้อตกลงเบื้องต้นของโมเดลที่ใช้ นักวัดผลจะสามารถประมาณค่าความสามารถของผู้สอบได้โดยที่พารามิเตอร์นี้เป็น อิสระไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของข้อสอบ ได้ค่าพารามิเตอร์ของข้อสอบที่ไม่ขึ้นกับกลุ่มตัวอย่างผู้สอบ ได้ค่าสถิติที่บ่งชี้ถึงความถูกต้องในการประมาณค่าความสามารถผู้สอบที่ขึ้น อยู่กับค่าความสามารถผู้สอบ จำนวนและคุณสมบัติทางสถิติของข้อคำถามและได้มาตรร่วม (common scale) ซึ่งใช้บรรยายคุณสมบัติผู้สอบและข้อสอบได้
การวิจัยด้านการวัดผลการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการตอบสนองรายข้อนอกจากจะเป็น การพัฒนาโมเดลและตรวจสอบโมเดลแล้ว ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างมาตรวัดคะแนนความสามารถ (Ability scores) ของ ผู้สอบ มีการพัฒนาคะแนนความสามารถในรูปฟังก์ชันของพารามิเตอร์ความสามารถของผู้สอบ รูปต่างๆ โดยมีการกำหนดน้ำหนักคะแนนแบบต่างๆและมีการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาวิธี ประมาณค่าพารามิเตอร์ความสามารถแบบต่างๆด้วย
3.1.2 วิธีวิทยาการวัดด้วยคอมพิวเตอร์ (Computerized Educational Measurement) Bunderson, V.V., Inouye, D.K. และ Olsen, J.B. (1989) ได้ สรุปว่าวิธีวิทยาการวัดด้วยคอมพิวเตอร์เป็นผลจากบูรณาการมโนทัศน์ด้านการ วัดกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยให้กระบวนการวัดทำได้สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และประหยัด รวมทั้งมีการสื่อสารโต้ตอบมีระบบการเก็บหลักฐานการสอบและการรายงานคะแนนสอบ และการบริหารการสอบที่มีประสิทธิภาพ วิธีวิทยาการวัดด้วยคอมพิวเตอร์แยกตามขั้นตอนของการพัฒนาได้เป็น 4 ประเภท ประเภทแรก คือ การสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์ (computerized testing) การบริหารการสอบทุกขั้นตอน การตรวจให้คะแนน การรายงานผล การสร้างธนาคารข้อสอบและการจัดทำข้อสอบใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงานทุกขั้น ตอน แต่การวิเคราะห์ข้อสอบยังใช้ทฤษฎีแบบดั้งเดิม ประเภทที่สอง คือ การสอบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ (computer-adaptive testing) เป็น การสอบที่มีการวิเคราะห์ตามทฤษฎีการตอบสนองรายข้อ มีการจัดข้อสอบให้เหมาะสมกับผู้สอบแต่ละคน และการบริหารการสอบทุกขั้นตอนทำโดยใช้คอมพิวเตอร์ ประเภทที่สาม คือ การวัดต่อเนื่อง (continuous measurement) เพื่อวัด ความเจริญหรือความเปลี่ยนแปลงและสร้างโปรไฟล์ของผู้สอบแต่ละคน คอมพิวเตอร์มีหน้าที่สร้างคะแนนพหุมิติ และแปลความหมายโปรไฟล์ของผู้สอบแต่ละคนเพิ่มขึ้น จากประเภทที่สอง ประเภทที่สี่ คือการวัดอย่างเชี่ยวชาญ (intelligent measurement) การ วัดประเภทนี้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์สูงสุด กล่าวคือ องค์ความรู้ที่มีอยู่ในสมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดถูกถ่ายทอดลงใน คอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์ช่วยในการบริหารการสอบทุกขั้นตอนเสมือนหนึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ คอยให้คำปรึกษา
4. วิธีวิทยาด้านสถิติ
ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ประกอบกับการพัฒนาโมเดลทางสถิติและวิธีการประมาณค่าพารามิเตอร์แบบต่างๆ รวมทั้งการบูรณาการวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐมิติ และจิตมิติทำให้วิธีวิทยาด้านสถิติพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงปลายคริสต์ ศตวรรษที่ 19 วิธี วิทยาขั้นสูงด้านสถิติวิเคราะห์ใหม่ๆ ที่มีใช้ในปัจจุบัน ล้วนแต่พัฒนามาจากเทคนิคการวิเคราะห์ที่มีอยู่เดิม แต่มีวิธีการที่ดีขึ้น ผ่อนคลายข้อตกลงเบื้องต้นได้มากขึ้น ให้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องมากขึ้น และเป็นวิธีการทีต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์ทั้งสิ้น วิธีวิทยาที่น่าสนใจมีดังนี้
4.1 ลิสเรล (Linear Structural Relationship) = LISRELลิสเรล มีความหมายเป็น 3 นัย นงลักษณ์ วิรัชชัย (2537) สรุป ว่านัยแรกหมายถึงโมเดลแสดงความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นระหว่างตัวแปร ซึ่งเป็นได้ทั้งตัวแปรสังเกตได้และตัวแปรแฝง โมเดลลิสเรลประกอบด้วยโมเดลการวัด (measurement model) ของชุดตัวแปรที่เป็นสาเหตุ และชุดตัวแปรที่เป็นผลและโมเดลสมการโครงสร้าง (structural equation model) โมเดลลิสเรลเป็นชื่อที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกจากชื่อโมเดลลิสเรลแล้วยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อของโมเดลโครงสร้างความ แปรปรวน (co-variance structure model) หรือโมเดลโครงสร้างแสดงสาเหตุ (causal structural model)
ความหมายนัยที่สองหมายถึงภาษาลิสเรลที่ใช้ในการเขียนคำสั่งสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์โมเดลลิสเรล และความหมายนัยที่สาม หมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการวิเคราะห์โมเดลลิสเรลซึ่งเป็นบูรณาการของการวิเคราะห์องค์ประกอบ(Factor analysis) การวิเคราะห์อิทธิพล (path analysis) และการประมาณค่าพารามิเตอร์ (parameter estimation) ตามหลักวิชาเศรษฐมิติ (econometrics)
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ลิสเรล พัฒนาโดย Jorekog, K. and Sorbom, D. ซึ่ง โปรแกรมมีลักษณะทั่วๆไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้กว้างขวางครอบคลุมวิธีการ วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติทุกรูปแบบ ปัจจุบันมีการพัฒนาถึงเวอร์ชั่นที่8ซึ่งพัฒนาให้ใช้กับโปรแกรมวินโดว์ได้และการเขียนคำสั่งง่ายและสะดวกขึ้น ภาษาที่ใช้ อาจใช้ได้ทั้งภาษาลิสเรล และภาษาซิมพลิส (SIMPLIS) ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั่วไป
4.2 โมเดลระดับลดหลั่นเชิงเส้น (Hierarchical Linear Model HLM) ข้อมูลสำหรับการวิจัยทางการศึกษาแบบมหาภาคจะมีลักษณะเป็นข้อมูลที่สอดแทรก เป็นระดับลดหลั่น หรือข้อมูลหลายระดับ ซึ่งจุดมุ่งหมายที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลหลายระดับแบ่งออกได้ ดังนี้
1.เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาหรือการเจริญเติบโต
2.เพื่อประมาณค่าส่วนประกอบความแปรปรวนของตัวแปรแต่ละตัวว่าความแปรปรวนในแต่ละระดับมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
3.เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต้นที่มีผลต่อตัวแปรตามในแต่ละระดับ
4.เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต้นที่มีต่อตัวแปรตามในระดับหน่วยการวัดที่เล็กที่สุด
4.3 วิธีวิทยาด้านสถิติสำหรับการวิจัยนโยบายและวางแผนการศึกษาความต้องการงานวิจัยลักษณะนี้นับวันยิ่งมีมากขึ้นและผู้บริโภคงานวิจัยต้องการ ให้มีการวิจัยที่ใช้วิธีวิทยาการวิเคราะห์ทางสถิติที่ดีและลึกซึ้งมากยิ่ง ขึ้นเป็นผลให้มีการพัฒนาวิธีวิทยาด้านสถิติสำหรับการวิจัย และเกิดวิธีวิทยาการขั้นสูงขึ้นหลายแบบทั้งที่เป็นแบบวิธีวิทยาใหม่ และวิธีวิทยาที่เป็นผลจากบูรณาการวิธีวิทยาของศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่นPERT (Program Evaluation and Review Technique) เป็นเทคนิคที่นำมาใช้ในการวางแผนและบริหารโครงการที่มีกิจกรรมซับซ้อนเชื่อม โยงกันให้เสร็จทันตามกำหนดเวลาโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดและ CPM (Critical Path Model) เป็นเทคนิคที่คล้ายคลึงกับPERT ต่างกันที่ CPM เน้นวิเคราะห์กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องการให้โครงการเสร็จเร็วกว่ากำหนด
4.4 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Analyzing Qualitative Data) ข้อมูลสำหรับการวิจัยทางการศึกษาและการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ใช้วิธีการ วิเคราะห์ทางสถิติขั้นสูงส่วนใหญ่เป็นของมูลเชิงปริมาณ ที่มีระดับการวัดตั้งแต่ระดับอันตรภาคขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงข้อมูลดังกล่าวมีทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ นักสถิติได้พยายามพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพให้ดีขึ้นทำให้เกิด วิธีวิทยาการด้านสถิติใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ วิธีดังกล่าวมีดังนี้
4.4.1 โมเดลล็อก-ลิเนียร์ (Log-linear Model) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีทางการสถิติเพื่อพัฒนาโมเดลที่สอด คล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อทดสอบสมมติฐานและเพื่อประมาณค่าพารามิเตอร์ในโมเดล ลักษณะของโมเดล จึงครอบคลุมความน่าจะเป็นเชิงเส้น และเชิงเส้นโค้ง และจุดเด่นของการวิเคราะห์โมเดล ล็อกลิเนียร์สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพมี สองประการคือ ผ่อนคลายข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับโมเดลแบบบวก และสามารถศึกษาอิทธิพลจากปฎิสัมพันธ์ได้
4.4.2 การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก (Logistic Regression Analysis) การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกมีหลักการเหมือนการวิเคราะห์การถดถอยต่างกัน ที่มีการเปลี่ยนรูปตัวแปรตามซึ่งเป็นตัวแปรจัดประเภทโดยใช้โลจิท และต่างกันที่การแปลความหมายสัมประสิทธิ์การถดถอยซึ่งแปรความหมายในรูปของ อัตราส่วนของแต้มต่อ และในระยะหลังสามารถศึกษาอิทธิพลจากปฎิสัมพันธ์ของตัวแปรต้นที่มีต่อตัวแปร ตามได้ด้วย
4.5 สถิติแกร่ง (Robust Statistics)
เป็นวิธีวิทยาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดของสถิติอนุมานที่ใช้กันอยู่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติที่เกี่ยวกับลักษณะการแจกแจงประเภทของ พารามิเตอร์ สภาพการสุ่ม และความเป็นอิสระ เมื่อข้อมูลไม่เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้นย่อมให้ผลการิเคราะห์คลาดเคลื่อน นักสถิติจึงได้พัฒนาสถิติที่แกร่งสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีลักษณะไม่ เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้น
เอกสารอ้างอิง
นงลักษณ์ วิรัชชัย 2538. วิธีวิทยาการการวิจัยขั้นสูงด้านการวิจัยและสถิติ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ดุจเดือน พันธุมนาวิน. 2549. หลักและวิธีการประมวลเอกสารเพื่อความเป็นเลิศในการวิจัยทางจิตพฤติกรรมศาสตร์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ เอที พรินติ้ง.
บุญชม ศรีสะอาด. 2551. การวิจัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่7 กรุงเทพฯ: ชมรมเด็ก
http://onknow.blogspot.com/2006_03_01_archive.html
http://witclub.wordpress.com/
http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=2725
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น