หนังสือ WINNING WITH PEOPLE
จอห์น ซี แมกซเวลล์ (1947- ) มีภูมิหลังมาจากบาทหลวง ปัจจุบันเป็นนักเขียนหนังสือและผู้นำสัมมนาการฝึกอบรมเรื่องภาวะผู้นำคน สำคัญ หนังสือเรื่อง THE 21 IRREFUTABLE LAWS OF LEADERSHIP (1999) – กฎแห่งภาวะการนำที่ปฏิเสธไม่ได้ 21 ข้อ เป็นหนังสือขายดีที่ขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่ม
ในบรรดากฎเหล่านี้ รวมทั้งกฎเช่น การเชื่อถือไว้วางใจ คือ รากฐานที่สำคัญของภาวะการนำ; ภาวะผู้นำต้องใช้เวลาพัฒนาทุกวัน, ไม่ใช่จะพัฒนาได้ในวันเดียว; การนับถือคนอื่น; การมีการหยั่งรู้แบบญาณสังหรณ์; การเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดคน; การสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น; การรู้จักเลือกว่าอะไรสำคัญ; การทำงานแบบเสียสละ และการรู้จักมอบหมายงานความรับผิดชอบให้คนอื่น
เขาเขียนหนังสือ เรื่องภาวะผู้นำที่มีชื่อเสียงอีกหลายเล่ม รวมทั้งเดินทางไปเป็นผู้นำสัมมนาให้ผู้นำองค์กรทั้งโลก(รวมทั้งเมืองไทย) มากกว่า 1 ล้านคนมาแล้ว
หนังสือเรื่อง WINNING WITH PEOPLE ของเขาอธิบายหลักการ 25 ข้อ ในการที่จะเข้ากับผู้คนได้ดีขึ้นและพัฒนาความสามารถของเราไปพร้อมกับเครือ ข่ายความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้น เขาได้ศึกษาผู้นำที่ประสบความสำเร็จและเปิดเผยถึงเคล็ดลับของคนที่มีทักษะ ด้านการเข้ากับผู้คนได้ดีที่สุด
แกนกลางที่แมกซเวลล์ เสนอคือ ผู้คนและองค์กรทำงานได้ดีขึ้น ถ้าผู้นำตระหนักและฟูมฟักดูแลเรื่องของความเป็นมนุษย์ (HUMAN ELEMENT) อย่างเอาใจใส่
ในหนังสือ WINNING WITH PEOPLE เขาย้ำความสำคัญของการพัฒนาคุณสมบัติในการที่จะเข้ากับผู้คนได้ดีและสร้าง ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เขามองว่าในชีวิตส่วนใหญ่ของทุกคน ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ประเภทที่จะฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้ไม่ว่าจะเกิด อะไรขึ้น (RESILIENT) ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน จึงเป็นการให้เครื่องมือกับเราในการที่จะสร้างองค์กรให้ดีขึ้นได้
หนังสือ WINNING WITH PEOPLE มีชื่อรองว่า DISCOVER THE PEOPLE PRINCIPLES THAT WORK FOR YOU EVERY TIME (ค้นพบหลักการเรื่องคนที่จะใช้ได้ผลทุกเวลา) เนื้อหาประกอบไปด้วย 5 บท คือ
1. ประเด็นเรื่องความพร้อม: เราเตรียมตัวสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือไม่?
2. ประเด็นเรื่องการเชื่อมโยง: เราเต็มใจที่จะเพ่งความสนใจไปที่คนอื่นหรือไม่?
3. ประเด็นเรื่องความเชื่อถือไว้วางใจ: เราจะสามารถสร้างความเชื่อถือไว้วางใจกันและกัน (MUTUAL TRUST) ได้หรือไม่?
4. ประเด็นการลงทุนลงแรง: เราเต็มใจจะลงทุนเพื่อการพัฒนาคนอื่นหรือไม่?
5. ประเด็นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันแบบทวีคูณ (SYNERGY) : เราจะสามารถสร้างความสัมพันธ์แบบทุกฝ่ายต่างได้ชัยชนะไปด้วยกัน (WIN – WIN RELATIONSHIP) ได้หรือไม่?
ประเด็นเรื่องความพร้อม : เราเตรียมตัวสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือไม่?
บางคนสรุปอย่างง่าย ๆ ว่า เรื่องการเข้ากับคนเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ไม่เห็นจะมีความสำคัญอะไรเป็น พิเศษ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีทักษะในการริเริ่ม, สร้าง และรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีแบบพออกพอใจกันทั้ง 2 ฝ่ายได้เสมอไป คนหลายคนมีภูมิหลังที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีปัญหา ไม่มีแบบอย่างของความสัมพันธ์ในทางบวกให้เขาเรียนรู้, คนหลายคนพัฒนาเป็นคนที่สนใจแต่ตัวเองและความต้องการของตนเอง โดยไม่ได้ตระหนักถึงคนอื่นและความต้องการของคนอื่นเลย, คนบางคนมีอดีตที่ขมขื่นที่ทำให้เขามองโลกในแง่ร้ายจากกรอบแว่นของประสบการณ์ ความเจ็บปวดของเขา และมีคนจำนวนมากที่มีจุดบอดในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี พวกเขาไม่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง และไม่รู้วิธีที่จะสร้างความสัมพันธ์แบบมีสุขภาพจิตที่ดีกับคนอื่น, คนที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้จะต้องเป็นคนมีสุขภาพจิตที่ดีและ มีวุฒิภาวะมากพอสมควร
การสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีนั้นเป็นทักษะประเภทหนึ่งที่คนเราเรียนรู้ได้, ต้องเรียนรู้และพัฒนาให้ได้ เพราะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เราเข้ากับอาณาบริเวณอื่น ๆ ของชีวิตได้ในทุกเรื่อง การมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การมีชีวิตและการงานที่ประสบ ความสำเร็จและมีความหมาย สิ่งที่แมกซเวลล์พยายามอธิบายคือ เราจะปรับปรุงความสัมพันธ์ที่มีอยู่และพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ที่เข้มแข็งและ น่าตื่นเต้นได้อย่างไร
หลักการเรื่องแว่นที่เราใช้มองคนอื่น
เรามองและตัดสินคน อื่นผ่านแว่นความเป็นตัวตนของเราเอง ถ้าเราเป็นคนมองโลกในแง่บวก เชื่อถือไว้วางใจคนอื่น เราจะมองว่าคนอื่นเป็นคนน่าเชื่อถือไว้วางใจ แต่ถ้าเราเป็นคนมองโลกในแง่ลบ มองคนอย่างวิพากษ์วิจารณ์ เราจะมองคนอื่นแบบวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าเราเป็นคนที่มีจิตใจที่เมตตาอารี เราจะมองคนอื่นว่าเป็นคนมีเมตตาด้วย
ดังนั้น เราต้องตระหนักว่า ทัศนะของเราต่อคนอื่นนั้น เป็นเรื่องที่เกิดจากการที่เรามองและตีความว่าคน ๆ นั้นเป็นใคร มากกว่าสิ่งที่คน ๆ นั้นเป็นจริง ๆ ถ้าคุณไม่ชอบคนบางคนเลย เพราะคุณคิดว่าเขามีจุดบกพร่องอย่างโน้นอย่างนี้ นี่คือเรื่องของตัวคุณและวิธีที่คุณมองคนอื่น มากกว่าเป็นเพราะคน ๆ นั้นมีจุดบกพร่องจริง ๆ วิธีการมองของคุณคือตัวปัญหา
ถ้าหากว่านี่คือปัญหา จริง อย่าพยายามไปเปลี่ยนคนอื่น อย่าเพิ่งไปเพ่งความสนใจที่คนอื่น ควรกลับมาเพ่งความสนใจที่ตัวคุณเอง วิเคราะห์ตัวคุณเองว่าคุณมองคนอื่นอย่างมีข้อมูลยืนยันและอย่างเป็นธรรมหรือ ไม่ ถ้าหากคุณเปลี่ยนตัวคุณเองและกลายเป็นคนที่คุณปรารถนาจะได้เป็น คุณจะเริ่มมองคนอื่นในแง่มุมมุมใหม่ และการมองคนในแง่ดีขึ้น ถูกต้องเป็นธรรมขึ้น จะเปลี่ยนวิธีที่คุณมีปฏิกริยาและสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ
หลักการเรื่องกระจกเงาส่องตัวเอง
คนทั่วไปมักไม่ ตระหนักว่าเขาคือใคร และสิ่งที่พวกเขาทำบ่อยครั้งทำลายความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น วิธีที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบบทำลายล้างนี้ได้ คือ เราควรจะกลับมาส่องกระจกเงา เพื่อหาความจริงด้วยการเริ่มต้นจากการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราเอง
การตระหนักถึงตนเอง (SELF AWARENESS) การรู้จักเข้าใจหยั่งรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ภายในตนเอง เช่นเจตคติ แรงจูงใจ ปฏิกริยา การป้องกันตนเองในทางจิตวิทยา จุดแข็ง จุดอ่อน คนเรามักวิเคราะห์คนอื่นไม่ว่าใครต่อใครได้หมด แต่มักจะไม่วิเคราะห์ตนเอง
การมองภาพพจน์ตนเอง (SELF – IMAGE) การมองภาพพจน์ตนเองในแง่ดีหรือในแง่ร้าย คือการคาดหมายเกี่ยวกับตัวเราเอง ซึ่งมักจะนำเราไปสู่สิ่งที่เราคาดหมายไว้ การมองภาพพจน์ตนเองในแง่ดีหรือแง่บวก จะทำให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น และทำให้ชีวิตเราประสบความสำเร็จ ได้มากกว่าการมองภาพพจน์ตนเองในแง่ร้ายหรือแง่ลบ
การซื่อสัตย์ต่อตนเอง (SELF HONESTY) การเต็มใจที่จะซื่อสัตย์เกี่ยวกับเรื่องจุดอ่อน, ความผิดพลาดและปัญหาของตัวเราเอง จะช่วยให้เราเรียนรู้และก้าวข้ามอุปสรรคได้ดีกว่าการไม่ซื่อสัตย์หรือหลอกตน เอง เพราะการไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเองทำให้เราไม่รู้ความจริง และทำให้ตัวเราเองคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดโดยที่เราไม่รู้ตัว และได้แต่โทษคนหรือสิ่งอื่น ๆ
การปรับปรุงตนเอง (SELF IMPROVEMENT) การรู้จักตนเองและการหาทางปรับปรุงตัวเอง ไม่ว่าในเรื่องบุคลิกอุปนิสัย คุณสมบัติ วิธีคิด วิธีควบคุมและแสดงออกทางอารมณ์ฯลฯ เป็นเรื่องที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและการพัฒนาตัวเราเองไปสู่ความสำเร็จได้อย่าง สำคัญ คนที่ไม่รู้จักตัวเองและพยายามเปลี่ยนแปลงคนอื่นหรือสิ่งอื่น โดยไม่คิดเรื่องเปลี่ยนแปลงตัวเอง นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังอาจจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นด้วย
การรับผิดชอบต่อตนเอง (SELF RESPONSIBILITY) แม้ว่าการประสบความสำเร็จที่สำคัญในทุกเรื่องจะเป็นผลมาจากการทำงานของคน ร่วมกันหลายคน แต่มักจะเริ่มจากวิสัยทัศน์ (VISION) ของคนใดคนหนึ่งเสมอ หากเรามีวิสัยทัศน์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะต้องรับผิดชอบด้วยการนำวิสัยทัศน์นั้นไปขยายต่อให้คนอื่น ๆ เห็นด้วย เพื่อที่คนทั้งหลายจะได้ช่วยกันทำวิสัยทัศน์นั้นให้เป็นจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น