วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความ เรื่อง “การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา”

บทความ เรื่อง
“การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา”

โดย นายสุวิทย์ ยอดสละ
นิสิตปริญญาเอก สาขา การบริหารและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การสร้างคุณภาพหรือการประกันคุณภาพมีความสำคัญมาก เพราะการประกันคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบคุณภาพทุกระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจสินค้าหรือบริการ และบรรลุถึงความต้องการด้านคุณภาพที่กำหนดให้น่าพอใจการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งในปัจจุบันคุณภาพของผลผลิต คือ ผู้เรียน ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ สะท้อนให้เห็นคุณภาพสถานศึกษาที่บริหารจัดการศึกษาล้มเหลว จึงจำเป็นต้องสร้างพื้นฐานด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
จากการรายงานสภาวะการศึกษาไทย 2551/2552 โดยรองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล ในการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษา โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) พบว่าสถานศึกษาคุณภาพดีมีน้อย คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกระดับมีความแตกต่างกันสูง คะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำเช่น คะแนนจากการทดสอบในระดับช่วงชั้น ป.6 ม.3 และม.6 วิชาส่วนใหญ่ได้เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 และส่วนใหญ่ตกต่ำจาก 5 ปีก่อน ผมอ่านรายงานแล้วรู้สึกเป็นห่วงและเกิดความกังวลขึ้นในใจเป็นอย่างมาก เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย

1.การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึงอะไร
การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การรับประกันคุณภาพของกระบวนการบริหารของโรงเรียนว่า ได้มีการวางแผนการทำงานและดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ผลผลิตของโรงเรียน มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานทางการศึกษาและตรงความต้องการของผู้รับบริการได้ตลอดเวลา
ระบบประกันคุณภาพการศึกษา คือ ระบบการบริหารงานของสถานศึกษาที่ทำให้สามารถบรรลุถึงมาตรฐานคุณภาพที่กำหนดไว้ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความมั่นใจในคุณภาพของสถานศึกษา ระบบดังกล่าวประกอบด้วย 3 ระบบย่อย คือ ระบบการวางแผน ระบบการควบคุมคุณภาพ และระบบการทบทวนและปรับปรุงคุณภาพการปฏิบัติงาน
ระบบประกันคุณภาพการศึกษา มีขั้นตอนและวิธีการไม่ต่างจากระบบประกันคุณภาพ(QA) ระบบบริหารคุณภาพ(QM) หรือระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การ(TQM)

2.ระบบการประกันคุณภาพภายใน มีกระบวนการอย่างไร
ตามกฎกระทรวง ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553
ข้อ 3 ระบบการประกันคุณภาพภายในเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนามาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ต้องประกอบด้วย
(1)การประเมินคุณภาพภายใน
(2)การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
(3)การพัฒนาคุณภาพการศึกษา

3.ระบบการประกันคุณภาพภายใน ดำเนินการอย่างไร
ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน ตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยดำเนินการดังต่อไปนี้
(1)กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(2)จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(3)จัดระบบบริหารและสารสนเทศ
(4)ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
(5)จัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
(6)จัดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(7)จัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน
(8)จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เพื่อเตรียมการรับการประเมินคุณภาพการศึกษาจากองค์กรภายนอก(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.) สถานศึกษาแต่ละแห่งจึงมีแนวทางในการดำเนินงานในการประกันคุณภาพด้วยกระบวนการพัฒนาที่เหมาะสมกับสถานศึกษา เช่น ยึดหลักการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพตามวงจรของ เดมมิ่ง อันได้แก่ การวางแผน (Plan)การปฏิบัติตามแผน(Do)การตรวจสอบหรือประเมินผลการปฏิบัติงาน(Check) และการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา(Action)

4.กรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ประจวบ พิมพะนิตย์ได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คือ
1.การพัฒนาหลักสูตร
2.การพัฒนากระบวนการเรียนการสอน
3.การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการ
การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาการบริหารคุณภาพ ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์ มีการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง(TQM)มีกระบวนการเรียนรู้(พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้)
2.คน คือมีการจัดคน จูงใจและสร้างพลังสู่ความสำเร็จ
3.เทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการดำเนินการ
4.กระบวนการจัดการ โดยควบคุมคุณภาพ (PDCA) ทำงานเป็นมาตรฐาน ทุกคนมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม (ตัดสินใจด้วยตนเอง) และพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ผมเห็นด้วยที่ว่า หัวใจระบบประกันคุณภาพอยู่ที่ระบบพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเราไม่ได้ส่งเสริม ไม่ได้ให้กำลังใจอย่างจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ ผู้บริหารมีส่วนสำคัญในการนำแนวคิดการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงให้รอบด้าน โดย “ปรับยุทธศาสตร์ ฉลาดสร้างคน ค้นเทคโนโลยี มีกระบวนการ”

5.แนวคิดการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา บรรยายพิเศษ ให้ข้อคิดในการดำเนินงานว่า ผู้บริหารทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยให้ข้อคิดในการทำงานให้สำเร็จ 3ประการ ได้แก่ 1)ปลุกให้ตื่น : หมายถึงให้คนอื่นรับทราบ และมีส่วนร่วม มีฐานข้อมูล รู้บทบาทหน้าที่ 2)ยืนให้มั่น : หมายถึง มีวิธีการทำงาน ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูล กลับกลุ่มคุณภาพและดำเนินการพัฒนาในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 3)ลงลึกให้เป็นวัฒนธรรม: หมายถึงหลังจากทำงานเสร็จแล้ว ควรมีการชื่นชม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และให้ขวัญกำลังใจ
ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิทยานุวัฒน์บรรยายพิเศษ “ผลการประเมินภายนอกรอบสอง และทิศทางการประเมินภายนอกรอบสาม” โดยกล่าวว่า 1)มาตรฐานสถานศึกษาให้ใช้เกณฑ์ของสมศ.และสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรอง รัฐบาลต้องช่วยพัฒนา 2)โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิน ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 3)นโยบายเรียนฟรี 15 อย่างมีคุณภาพ เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโรงเรียน 4)การประเมินเพื่อพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งนำร่องก่อน 5)สถานศึกษาที่มีคุณภาพ คือ สถานศึกษาที่ทำประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
ศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)บรรยายพิเศษ “การส่งเสริมประสิทธิภาพระบบการประกันคุณภาพการศึกษา”กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป้าหมายที่ 1: เร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ โดยสะท้อนผลสำเร็จไปที่หน้าที่สำคัญของงานประกันคุณภาพระดับเขตพื้นที่การศึกษา(1)สพท. ต้องรู้ว่าสถานศึกษามีผลการประเมินเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือลดลงกี่โรงเรียน (2) จะเร่งรัดส่งเสริมสถานศึกษาอย่างไร(3) มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร เป้าหมายที่ 2 : พัฒนาโรงเรียนที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานภายนอก รอบสองให้ได้ โดยให้แต่ละเขตพื้นที่กำหนดจำนวน เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนในการพัฒนาเอง แนวดำเนินการ (1) จัดทำฐานข้อมูลโรงเรียน(2) จัดระบบการเข้าถึงข้อมูลโรงเรียน (3)จัดโรงเรียนพี่เลี้ยง(4)สร้างความตระหนักให้ผู้บริหาร : ให้กระตือรือร้นและมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา(5)เสริมสร้างประสิทธิภาพครู : ให้ รู้จักเด็ก มีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และสามารถจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตรของตนเองได้(6)จัดการเรียนรู้ให้นักเรียน : แจ่มใส อ่านได้ คิดเลขได้ ฯลฯ (7) ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม : ยอมรับ ศรัทธา (8) มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา : มีการประเมินตนเอง ต่อเนื่อง และมีความสอดคล้องกับทุกระดับ
ผมเห็นด้วยที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องจริงจังในการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สถานศึกษาเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ พัฒนาโรงเรียนที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานภายนอกรอบสอง โดยให้สถานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามคำชี้แนะของสมศ.หรืออาจจะร่วมกันพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่ไม่ผ่านการรับรอง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการรับรอง โดยเฉพาะมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยเนื่องจากขาดแคลนครูสาขา ปฐมวัย ต้องหาทางช่วยกันอย่างเร่งด่วน สถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กขณะนี้มีสองอย่าง คือ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต จึงต้องเร่งการสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การสร้างความเข้มแข็งและความพร้อมของสถานศึกษาให้ได้
ผมได้ยินผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่าการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหลงทาง เพราะว่าผู้บริหารไม่มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ไม่คำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนมัวแต่ทำงานรองมากกว่างานหลัก กล่าวคือ พัฒนาด้านบริบท สภาพแวดล้อม ปรับปรุงอาคารสถานที่ แต่ไม่พัฒนางานวิชาการที่จะส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียน
ผมไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น ผมเห็นว่าการทำงานต้องพัฒนาสภาพบริบทควบคู่กับการพัฒนาวิชาการ ถ้าหากพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เมื่อเข้าไปในโรงเรียนแล้วพบว่า โรงเรียนน่าดู น่าอยู่ ครูจิตใจใฝ่คุณภาพ น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรืออาจเป็นเพราะว่างานพัฒนาด้านกายภาพเป็นรูปธรรมเห็นผลทันตา แต่งานพัฒนาวิชาการนั้นเห็นผลช้าไม่เป็นรูปธรรมดังที่หลายคนคิดก็ได้

6.แนวทางการสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพ
แนวทางการสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพ ประกอบด้วย
1.การวิเคราะห์บริบท (Context Analysis)โดยใช้หลักการ SWOT ทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือสถานศึกษา สามารถจัดวางยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล(Good Governance)ทำให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจหลักการสำคัญของธรรมาภิบาลและนำไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทำให้การบริหารงานเกิดความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายได้รับความสุขและความสำเร็จในการทำงาน เกิดความมั่นใจในการบริหารคุณภาพการจัดการศึกษา
3.การนำองค์การและเทคโนโลยีการบริหารการศึกษา (Leading Organization and Education Management Technology) ทำให้ผู้บริหารทราบถึงวิธีการที่ผู้บริหารจะชี้นำองค์กรโดยอาศัยการสื่อสาร การสร้างบรรยากาศ ความรับผิดชอบต่อสังคม และเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบริหารการศึกษาและทักษะที่จำเป็นต่อการบริหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4.การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์(Strategy Planning and Formulation) ทำให้เห็นแผนภาพที่แสดงถึงแนวทางการวางแผนและการกำหนยุทธศาสตร์ในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
5.การนำแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ(Strategy Implementation)เป็นแนวทางในการนำแผนยุทธศาสตร์ลงสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแผนมีความยั่งยืน
6.การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เนื่องจากบริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีส่วนที่มีผลกระทบต่อการบริหารการศึกษา สถานศึกษาจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
7.การสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (Network Building and Participatory) เนื่องจากกระบวนการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษามีพลังในการพัฒนา จึงต้องสร้างระบบการดำเนินงานทางการศึกษาร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบร่วมกัน
8.การควบคุม การวัดประเมิน และการจัดการความรู้ (Control , Measurement, Evaluation and Knowledge Management) เป็นการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการบริหารสถานศึกษา จากแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติครบวงจร ทำให้สถานศึกษามีความพร้อมในการรับข้อมูลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ การจัดการความรู้เป็นการสร้างสินทรัพย์ทางความรู้ให้อยู่กับสถานศึกษา โดยพัฒนาอย่างเป็นระบบให้องค์ความรู้ถูกถ่ายทอดและเก็บรักษาไว้ที่สถานศึกษา
9.การปฏิบัติที่เป็นเลิศ(Best Practice)เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศในการบริหารงาน โดยนำหลักทางการบริหารมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ
ผมมีความคิดเห็นว่า คุณภาพสถานศึกษา หมายถึง คุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู คุณภาพผู้บริหาร และคุณภาพโรงเรียนนั่นเอง ถ้าทุกคนมองภาพใหญ่(Big Picture) ร่วมกัน คงจะเห็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพสถานศึกษา โดยเอาคุณภาพนักเรียนเป็นตัวตั้ง การสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการส่งเสริมและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการศึกษา และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้

การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา มีความสำคัญยิ่ง คุณภาพการจัดการศึกษาเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจและห่วงใย สถานศึกษาจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมว่า มีความสามารถในการจัดการศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนมีคุณธรรม(ดี)มีความรู้(เก่ง) และอยู่ในสังคมได้อย่างความสุข ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานที่สูงขึ้น ผู้บริหารเป็นมืออาชีพและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้นำทางวิชาการ มีจิตอาสา ประชาชนได้รับความสุขจากการจัดการศึกษาตามที่คาดหวัง สถานศึกษามีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่กำหนดว่า “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ภายใต้การขับเคลื่อนแนวทาง 4 ใหม่ คือ คุณภาพคนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการบริหารและการจัดการยุคใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: