วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความ เรื่อง
“ผู้บริหารสถานศึกษา : ประเด็นท้าทายผู้นำการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา”
โดย นายสุวิทย์ ยอดสละ
นิสิตปริญญาเอก สาขา การบริหารและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์มหาสารคาม

การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในรอบแรก(พ.ศ.2542) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาทั้งทางด้านหลักสูตร การสอน เทคโนโลยีการศึกษา และการบริหารจัดการ ซึ่งความพึงพอใจน่าจะอยู่ในระดับพอใช้ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยกับประเทศในแถบอาเซียนไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียตนาม ประเทศไทยพัฒนาช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง นับว่ายังห่างไกลกับประเทศเหล่านี้ ปัญหาที่พบจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาที่ต้องเร่งพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด คือ คุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะด้านคุณภาพผู้เรียน ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ จากรายงานสภาวะการศึกษาไทย 25512/2552 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เช่น คะแนนจากการทดสอบในระดับช่วงชั้น ป.6 ม.3 และม.6 วิชาส่วนใหญ่ได้เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 น่าจะสะท้อนให้เห็นคุณภาพการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ.2553-2561) ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ด้วยการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนา 4 ใหม่ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาครูยุคใหม่ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นคนหรือแม้แต่สถานศึกษาก็ได้รับผลกระทบด้วย สถานศึกษาต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะเป็นแนวคิดในการบริหารสถานศึกษาให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จ คือ การบริหารการเปลี่ยนแปลง(Change management) ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับครู ผู้เรียนและชุมชนมากที่สุด ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีสมรรถนะในการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาบรรลุเป้าหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2452 ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 คือ “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”
ผู้บริหารสถานศึกษากับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สถานศึกษามีคุณภาพ
Transform คือ “การเปลี่ยนแปลง” ไปสู่อีก “บริบท” หนึ่งที่ดีขึ้น นั่นคือ การเปลี่ยนบริบทสถานศึกษาให้สอดรับกับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Context Analysis : The Challenge of the future Education Administration) ซึ่งเป็นความท้าทายการบริหารการศึกษาอย่างยิ่ง ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้อง Reform สิ่งที่เป็น “จุดอ่อน” (Weakness) ให้เป็น “จุดแข็ง” (Strength) โดยบริหารจัดการสถานศึกษาให้เป็น “สถานศึกษาแห่งคุณภาพ” ที่มีผลสำคัญยิ่งต่อคุณภาพผู้บริหาร คุณภาพครู และคุณภาพนักเรียน

หลักการบริหารคุณภาพการศึกษาทั่วทั้งองค์กร
ผู้เขียนได้ศึกษาหลักการบริหารคุณภาพการศึกษาทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Education Principal : A Transformed Leader) ของ Richard Sagor & Bruce G. Barnett สรุปได้ 7 ประการ ดังนี้
“มีแผนยุทธศาสตร์ ฉลาดใช้TQM เติมเต็มศักยภาพ รับปรึกษา กล้าตัดสินใจ ใฝ่เรียนรู้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
1.มีแผนยุทธศาสตร์ หมายถึง ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการทำงานให้ประสบ
ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา (Understanding How the Work of Group Fit Into the School’s Vision) โดยอาศัยกระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์(The Strategic Planning Process) ให้ทุกคนตระหนักถึงพันธกิจ(Commitment) และสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Creating a Shared Vision)
2.ฉลาดใช้ TQM หมายถึง ผู้บริหารต้องมีการนำแนวคิดเรื่องการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร มาใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาอย่างถูกต้อง (bring the key concepts of TQM right into the modern schoolhouse) จะต้องรู้จักว่า ลูกค้าคือใคร (Who Is the Customer) จะสนับสนุน ส่งเสริมภารกิจและบุคลากรอย่างไร (How can principal Organize the Suppliers)
3.เติมเต็มศักยภาพ หมายถึง ผู้บริหารจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพความสามารถพิเศษของบุคลากรให้เต็มศักยภาพ (Optimizing the Talents of All Staff Members)โดยใช้วงจรพัฒนาของ เดมมิ่ง(Deming) ผู้บริหารจะต้องเข้าใจหลักการ 3 ประการ คือ การเรียนรู้ของผู้ใหญ่(Adult Learning) วัฒนธรรมขององค์กร(Organizational Culture) และภาวะผู้นำของครู (Cultivation of teacher Leadership)
4.รับปรึกษา หมายถึง ผู้บริหารจะต้องมีแสดงบทบาทเป็นผู้ฝึกสอนและให้คำปรึกษาไม่ใช่ ผู้ตัดสิน (Being Coaching and Counselor not Judges) จะต้องสนับสนุนครูหลากหลายวิธีในการจัดการเรียนการสอน
5.กล้าตัดสินใจ หมายถึง ผู้บริหารต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจในการบริหารจัดการคุณภาพ (Making Quality Decision Base on data) โดยอาศัยวิจัยปฏิบัติการแบบความร่วมมือ(Collaborative Action Research) เพื่อให้วิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนยุทธศาสตร์ บรรลุตามเป้าหมาย
6.ใฝ่เรียนรู้ หมายถึง ผู้บริหารต้องเป็นผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Building a Professional Learning Community) โดยต้องนำหลักการสู่การปฏิบัติในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเทคนิคและทักษะการบริหาร เช่น การบริหารแบบ MBWA (Management By Walking Around ) หมายถึง การบริหารโดยการเดินดูรอบๆ โดยเดินไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับบุคลากรในโรงเรียนให้มากขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานหลายประการ คือ จะได้เห็นและรู้จักหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เป็นการแสดงถึงความสนใจในการทำงานของบุคลากรทุกคนในหน่วยงาน เป็นการให้ความสำคัญแก่บุคลากร ช่วยในการติดตามและประเมินผลการทำงานของบุคลากรได้อย่างใกล้ชิด ช่วยในการประสานงานและอำนวยการ
7.ผู้นำการเปลี่ยนแปลง หมายถึง ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการนำรูปแบบการบริหารคุณภาพการศึกษามาบูรณาการใช้ (A TOE Model of Instructional Leadership) ดังแผนภาพ


Influences




The Transformed Principal





Influences


A TOE Instructional Leadership Model
ในฐานะผู้เขียนเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ได้มองเห็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั่วทั้งองค์กร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารสถานศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการพัฒนา 4 ใหม่ คือ
1.Customer (Student, Parent) คือ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ เด็กไทยและคนไทยยุคใหม่ เป็นคนเก่ง ดี มีความสุข ดำรงรักษาความเป็นไทยและรู้เท่าทันโลก
2.Collegial Work Group คือ การพัฒนาครูยุคใหม่ จะต้องจัดอบรมการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยในชั้นเรียน การนิเทศแบบมีส่วนร่วม การอบรมสัมมนาทางวิชาการ พัฒนาครูให้มีจิตวิญญาณความเป็นครูและเป็นครูมืออาชีพ
3.School Profile คือ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ สถานศึกษาต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานศึกษาที่มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
4. Strategic Planning คือ การพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ สร้างแนวทางการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารสถานศึกษาให้ประสบผลสำเร็จและมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง การบริหารคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนจะไม่น่าเบื่อ ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือและคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า(ผู้เรียน) เป็นสำคัญ ต้องนำหลักการไปสู่การปฏิบัติ ต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน โรงเรียนต้องมีการจัดโครงสร้างที่ชัดเจน ส่งเสริมจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นการปฏิบัติจริง และมีการใช้สื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ แสวงหาความร่วมมือกับชุมชนและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมในการจัดการเรียนรู้

ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ถ้าหากการปฏิรูปการศึกษารอบสองไม่ติดกับดักทางการเมือง ครูและผู้บริหารไม่ติดกับดักทางปัญญา ทุกภาคส่วนร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยยึดคุณภาพผู้เรียนเป็นตัวตั้งและเป็น“หัวใจ” ในการพัฒนา ทำให้การศึกษาไม่แยกออกจากสังคมหรือชีวิตจริง
เชื่อว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนต้องสูงขึ้น สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนมีความรู้(เก่ง) มีคุณธรรม จริยธรรม(ดี) และมีความสุข เป็นคุณภาพของเด็กไทยในอนาคต เป็นผู้ที่มีความสามารถ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ก้าวไกลสู่สากล และมีความเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ มีคุณลักษณะนิสัยตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ได้แก่ ใฝ่ดี ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนโฉมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย
น่าจะถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้อง Transform...
It’s time that the principal must be Transform…

ไม่มีความคิดเห็น: